Topic

ความหลากหลายทางชีวภาพกับการดำเนินธุรกิจ

 

ความหลากหลายทางชีวภาพกับการดำเนินธุรกิจ

ความหลากหลายทางชีวภาพเริ่มได้รับความสำคัญและถูกคำนึงถึงเพิ่มมากขึ้นในการดำเนินงานของภาคธุรกิจ หลายภาคส่วนเห็นว่าปัญหาเรื่องการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Loss) กับภาวะโลกรวน (Climate Change) เป็นภาวะวิกฤตระดับโลกที่ควบคู่กัน สังเกตได้จากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) ซึ่งโดยปกติจะเป็นการประชุมที่เน้นในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ในการประชุม COP 27 เมื่อปี 2565 ได้มีการเน้นย้ำความสำคัญของการปกป้องและอนุรักษ์ธรรมชาติและระบบนิเวศ ยิ่งไปกว่านั้น ในการประชุม COP 28 ในปี 2566 ก็มีการประชุมเจรจาเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินสำหรับธรรมชาติ (Finance for Nature) และการเรียกร้องให้ภาคเอกชนลงทุนในแนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solution หรือ NbS) มากขึ้นด้วย

ภูมิทัศน์และแนวโน้มของความสัมพันธ์ระหว่างภาคธุรกิจและความหลากหลายทางชีวภาพ

“ความหลากหลายทางชีวภาพ” เปรียบเสมือนกับ "บริการจากระบบนิเวศ" ที่มอบประโยชน์ให้แก่ประชาคมและเศรษฐกิจของมนุษย์ ตัวอย่างของบริการจากระบบนิเวศ เช่น อากาศและน้ำบริสุทธิ์ ไม้จากป่า และดินที่อุดมสมบูรณ์เหมาะกับการเพาะปลูกพืช เมื่อความหลากหลายทางชีวภาพเสื่อมถอยลง ธุรกิจและเศรษฐกิจก็จะได้รับผลกระทบในทางลบเช่นเดียวกัน

ปัจจุบัน เราจึงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของทัศนคติต่อธรรมชาติขององค์กรต่าง ๆ และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ รวมถึงโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ผู้ลงทุนสถาบันระดับโลกหลายแห่งซึ่งบริหารจัดการสินทรัพย์ต่าง ๆ กว่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ได้เข้าร่วม Nature Action 100 (NA100) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะสร้างการสนับสนุนจากภาคเอกชนในการจัดการกับปัญหาเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลง นอกจากนี้ ความหลากหลายทางชีวภาพได้รับความสนใจและถูกยกระดับให้มีความสำคัญมากขึ้น โดยถูกรวมไว้ในเป้าหมายที่ 14 (SDG 14 Life Below Water) และเป้าหมายที่ 15 (SDG 15 Life on Land) ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) รวมถึงเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงในการประชุมและเจรจาเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินสำหรับธรรมชาติ (Finance for Nature) รูปแบบใหม่ ๆ ในการประชุม COP ครั้งต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว นอกจากนี้ ในกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework) ก็ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับบทบาทของ “ตลาดเครดิตด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Markets)” และ “การให้เงินทุนด้านธรรมชาติ (Nature Finance)” เพื่อระงับยับยั้งการเสื่อมถอยของระบบนิเวศ ป้องกันและฟื้นฟูธรรมชาติ และเกื้อหนุนการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ล่าสุด ใน Joint Statement on Climate, Nature and People ซึ่งเป็นผลจากการประชุม COP 28 ในวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ก็ได้มีข้อสรุปร่วมกันระหว่างผู้ร่วมลงนาม (ซึ่งรวมถึง UNFCCC COP28 Presidency และ CBD COP15 Presidency) ว่าจะให้มีความร่วมมือกันในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นไปตาม Paris Agreement และ Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework โดยมีวัตถุประสงค์ต่าง ๆ รวมถึงการเพิ่มปริมาณเงินทุนและการลงทุนเพื่อสภาพภูมิอากาศและธรรมชาติโดยมีแหล่งที่มาทั้งจากงบประมาณของแต่ละประเทศ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแบบพหุภาคี (Multilateral Development Bank) กองทุนเพื่อสภาพภูมิอากาศและธรรมชาติแบบพหุภาคี (Multilateral Climate And Biodiversity Funds) รวมถึงภาคเอกชน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดประโยชน์ร่วมกันและประสิทธิภาพโดยใช้แนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solution) และวิธีการอื่นที่อาศัยระบบนิเวศเป็นพื้นฐาน (Ecosystem-based Approaches)

กฎหมายของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ

ด้วยความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ ประเทศต่าง ๆ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และประเทศในเขตสหภาพยุโรป ได้ประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีเนื้อหาครอบคลุมในหลายประเด็น เช่น การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้น การสูญเสียที่อยู่อาศัยและการสูญเสียของระบบนิเวศ

ซึ่งในเรื่องนี้ ตามคำแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยก็กำลังดำเนินการเพื่อออกกฎหมายมาบังคับใช้เช่นเดียวกัน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังจัดทำร่างกฎหมาย ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งนี้ ในร่างกฎหมายฉบับล่าสุดมีหลักการที่สำคัญและเป็นสากลหลายประการ เช่น หลักการเรื่องการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน หลักการเรื่องการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพร่วมกันอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ ยังมีบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์ที่จะยกระดับการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ และอุดช่องโหว่ของกฎหมายปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ

ถึงแม้จะยังมีอีกหลายขั้นตอนก่อนที่จะมีการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อออกมาบังคับใช้จริง ซึ่งอาจจะทำให้หลักการและรายละเอียดของร่างกฎหมายนั้นเปลี่ยนแปลงไปบ้างจากที่ระบุในร่างกฎหมายฉบับล่าสุด แต่เชื่อว่ากฎหมายดังกล่าวจะเป็นกฎหมายหลักสำหรับการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย

แนวทางการประเมินและการเปิดเผยข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพสำหรับภาคธุรกิจ

ในส่วนของภาคธุรกิจนั้น นอกจากการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อการรักษาและคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว การเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริษัทจดทะเบียน โดยในส่วนของแนวทางเรื่อง “การจัดทำรายงานเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ” นั้น ในต่างประเทศก็เริ่มมีปรากฏให้เห็นแล้ว เช่น แนวทางหรือคำแนะนำของ Taskforce on Nature-related Financial Disclosures (TNFD) หรือก็คือกรอบการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ

ทั้งนี้ ในอนาคตอันใกล้ ภาคเอกชนไทยน่าจะต้องมีหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น เนื่องจากหากเทียบเคียงกับกรอบการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศที่จัดทำโดย Taskforce on Climate-related Financial Disclosures (TCFD) ที่ต่อมา International Sustainability Standards Board (ISSB) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ International Financial Reporting Standards Foundation ได้นำหลักการของ TCFD มาปรับใช้ในการกำหนดมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับความยั่งยืนขององค์กร ได้แก่ IFRS S1 และ IFRS S2 ก็เชื่อว่าหลักการของ TNFD ก็จะถูกนำมากำหนดเป็นมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับความยั่งยืนขององค์กรเช่นเดียวกัน

ตามคำแนะนำและแนวทางของ TNFD นั้น องค์กรจะต้องระบุ ประเมิน วัดผล และเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการพึ่งพิง ผลกระทบ ความเสี่ยง และโอกาสที่เกี่ยวข้องกับองคาพยพหลักของธรรมชาติ ได้แก่ ผืนดิน มหาสมุทร แหล่งน้ำดี และชั้นบรรยากาศ โดยคำแนะนำของ TNFD นั้นยึดโยงอยู่กับหลักการสี่ประการ คือ ธรรมาภิบาล (Governance) กลยุทธ์ (Strategy) การประเมินความเสี่ยงและโอกาส (Risk and Impact Assessment) และตัวชี้วัดและเป้าหมาย (Metrics and Targets) ซึ่งสอดคล้องกันกับหลักการของ TCFD และ ISSB

การประเมินรอยเท้าความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Footprint) กับภาคการเงินการลงทุน

ปัจจุบัน ภาคการเงินการลงทุนได้เริ่มมีแนวคิดที่จะจัดทำมาตรฐานและเครื่องมือเพื่อที่จะประเมินมูลค่าหรือคำนึงถึงความเสี่ยงของธุรกิจในส่วนที่เกี่ยวกับธรรมชาติและความหลากหลายทางธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น การประเมินรอยเท้าความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Footprint) ซึ่งคล้ายกับกรณี การประเมินรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างและอุปสรรคหลักของการประเมินรอยเท้าสองประเภทนี้ คือ ในกรณีของการประเมินรอยเท้าความหลากหลายทางชีวภาพนั้น ไม่ได้มีมาตรฐานและเครื่องมือสำหรับการวัดผลที่ใช้โดยแพร่หลาย ซึ่งต่างจากกรณีของการประเมินรอยเท้าคาร์บอนที่มีการใช้ Greenhouse Gas Protocol ซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานการจัดทำบัญชีและการรายงานก๊าซเรือนกระจกสำหรับหน่วยงานระดับต่าง ๆ และมีการใช้อย่างเป็นสากล

ดังนั้น เมื่อขาดตัวชี้วัดหรือเครื่องมือที่จะใช้ประมวลผลข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติหรือความหลากหลายทางชีวภาพที่ครอบจักรวาล เพื่อนำไปประเมินข้อมูลทางการเงินหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจลงทุน จึงยังเป็นอุปสรรค ทำให้บรรดาผู้ลงทุนและแหล่งเงินทุน ต้องพึ่งพาข้อมูลหลายประเภทและจากหลายแหล่ง เพื่อที่จะประเมินมูลค่าหรือคำนึงถึงความเสี่ยงของธุรกิจในส่วนที่เกี่ยวกับธรรมชาติและความหลากหลายทางธรรมชาติ ซึ่งนำไปสู่อีกปัญหา คือ การที่ไม่สามารถเปรียบเทียบข้อมูลของแต่ละองค์กรได้ หรือในบางครั้ง ก็อาจจะไม่ได้พิจารณาหรือประเมินความเสี่ยงในส่วนนี้เลย

ในส่วนนี้ TNFD ภาคธุรกิจ ภาคการเงิน และหน่วยงานกำกับดูแล ก็ต่างตระหนักถึงความสำคัญในการกำหนดมาตรฐานและเครื่องมือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และได้มีความพยายามในการค้นคว้าและผลักดันแนวคิดและคำแนะนำต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคต หากมาตรฐานและเครื่องมือต่าง ๆ มีการพัฒนามากขึ้น และได้มีการนำไปใช้ในการจัดทำรายงานเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพขององค์กรต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย ก็น่าจะทำให้การเปรียบเทียบและประเมินข้อมูลโดยผู้ใช้ข้อมูลและผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ ขององค์กร (รวมถึงผู้ลงทุน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ และหน่วยงานกำกับดูแล) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เสริมสร้างความโปร่งใสของข้อมูล ส่งเสริมการสร้างความรับผิดชอบขององค์กร และหมุนเวียนไปเป็นแรงกระตุ้นการดำเนินการเพื่อธรรมชาติและลดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างครบวงจร

 

ที่มา :

 

 

บทความโดย
โกวิท อดิเรกสมบัติ
ทนายความหุ้นส่วน
บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด
สมาชิก SET ESG Experts Pool