Topic
กฎหมายและกฎระเบียบด้านความยั่งยืนของสหภาพยุโรป: ตอนที่ 1/4 EU Green Deal ผลกระทบและโอกาสสำหรับธุรกิจไทย
*บทความนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง Baker McKenzie Sustainability Group และ SET ESG Academy ในการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกฎระเบียบด้านความยั่งยืนของสหภาพยุโรปและผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทย
Published: 2024-09-24
สรุปสาระสำคัญ | Key Findings
ความสำคัญและที่มา
สหภาพยุโรป (European Union: EU) เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ประสบกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อน ไฟป่า น้ำท่วมใหญ่ ซึ่งสร้างผลกระทบและความเสียหายทั้งต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน และความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี และมีแนวโน้มว่าภัยพิบัติเหล่านี้จะทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี EU จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการจัดการด้าน Climate Change และอาจกล่าวได้ว่า EU เป็นภูมิภาคที่มีการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่จริงจังและเข้มข้นที่สุดในโลก EU มีความมุ่งหมายว่าการออกมาตรการภาคบังคับต่าง ๆ จะช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายเกี่ยวกับการจัดการด้าน Climate Change ได้อย่างรวดเร็วและมีความแน่นอน ซึ่งถือว่า EU เป็นต้นแบบของการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ต่อมาประเทศอื่น ๆ ก็ได้นำไปประยุกต์ใช้ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ กฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ของ EU มีทั้งที่อยู่ในรูปแบบของ Regulations ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ใช้ร่วมกัน (Common rules) โดยมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายสำหรับทุกประเทศสมาชิกใน EU และในรูปแบบ Directives ที่แต่ละประเทศสมาชิกของ EU จะต้องออกกฎหมายเฉพาะของประเทศ หรือ National laws ตามกรอบแนวทางหลักที่ EU กำหนด นอกจากนี้ ยังมีกฎระเบียบในรูปแบบ Decisions Recommendations และ Opinions อีกด้วย ดังรูปที่ 1 แสดงประเภทของกฎหมายและกฎระเบียบของ EU
คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission: EC) ได้ออกนโยบายหลักที่ชื่อ "EU Green Deal" เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2019 โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ เพื่อให้สังคมเกิดความเจริญเติบโตและทันสมัย ควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการแข่งขันทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม เพื่อเป็นทวีปแรกของโลกที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือที่ EU ใช้คำว่า "Climate Neutrality"* ภายในปี ค.ศ. 2050 และเพื่อจะปกป้อง อนุรักษ์ และเพิ่มพูนทุนทางธรรมชาติของประเทศต่าง ๆ ใน EU รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงและผลกระทบต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเกิดมลพิษ และการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งนี้ เพื่อสุขภาพอนามัยและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
*The EU aims to be climate-neutral by 2050 – an economy with net-zero greenhouse gas emissions. (https://climate.ec.europa.eu/eu-action/climate-strategies-targets/2050-long-term-strategy_en )
EU Green Deal มีองค์ประกอบที่สำคัญ 8 ด้าน และมีการกำหนดทิศทาง/แนวนโยบายภายใต้องค์ประกอบแต่ละด้าน ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
- การยกระดับและเร่งขับเคลื่อนการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ EU ในปี 2030 และปี 2050 ให้เข้มงวดมากขึ้น
𒊹 การออกกฎหมายด้านสภาพภูมิอากาศ (European Climate Law) ฉบับแรกของ EU ในปี 2021 โดยมีการกำหนดเป้าหมายระยะยาวที่ชัดเจน คือ EU จะเป็นทวีปแรกของโลกที่บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 และมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 ลงร้อยละ 55 เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการปล่อยของปีฐาน คือ
ปี 1990 จึงเป็นที่มาของชุดมาตรการที่ชื่อ "Fit for 55 Package" นั่นเอง
𒊹 การปฏิรูปนโยบายโดยนำกลไกทางการเงินมาประยุกต์ใช้เพื่อเร่งขับเคลื่อนการดำเนินการรับมือวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เช่น กลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) ที่กำหนดราคากับ 'การปล่อยคาร์บอน' ให้เกิดการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือที่เรียกว่า EU ETS (Emissions Trading System) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมุ่งขยายครอบคลุมธุรกิจประเภทอื่น ๆ ที่อยู่นอก ETS รวมถึงการออกกฎระเบียบสำหรับธุรกิจที่มีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับการใช้ที่ดิน การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และภาคป่าไม้ เป็นต้น
𒊹 การพัฒนากลไกการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการย้ายฐานการผลิตจากประเทศใน EU ที่มีการบังคับใช้กฎระเบียบต่าง ๆ และทำให้ผู้ผลิตมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ไปยังประเทศที่มีความเข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า และนำสินค้าที่ผลิตด้วยกระบวนการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกลับเข้ามายัง EU ที่เรียกกันว่า 'Carbon Leakage'
𒊹 การออกยุทธศาสตร์ใหม่ ๆ เพื่อเร่งปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) โดยครอบคลุมทั้งภาคการลงทุน ภาคประกัน ภาคธุรกิจ ภาคเมือง และภาคประชาชน โดยให้ความสำคัญกับการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และการพัฒนาเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน Climate Change ที่มีประสิทธิภาพ - การขยายกำลังผลิตพลังงานสะอาด ให้สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น และสร้างความมั่นคงทางพลังงาน
𒊹 การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonisation) ในภาคพลังงาน มีส่วนสำคัญให้ EU สามารถบรรลุเป้าหมายในปี 2030 และ 2050 ซึ่งการผลิตและการใช้พลังงานใน EU มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่า 75%𒊹 การกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องปรับแก้ไขแผนและกฎระเบียบด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด (Clean energy transition) ที่คำนึงถึงประโยชน์ต่อผู้บริโภค การเข้าถึงพลังงานของทุกครัวเรือน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานที่ทันสมัย ตลอดจนการขยายความร่วมมือในระดับภูมิภาค เช่น การออกกฎระเบียบด้านโครงข่ายพลังงาน Trans-European Networks – Energy (TEN-E) Regulation เป็นต้น
- การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมและเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน (clean and circular economy)
𒊹 การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคอุตสาหกรรมและห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมด (value chains) ต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 25 ปี ดังนั้นการบรรลุเป้าหมายภายในปี 2050 จึงจำเป็นต้องเร่งจัดทำแผนและแนวทางปฏิบัติ ภายในปี 2025 นี้
𒊹 การออกแบบแผนปฏิบัติการ Circular Economy Action Plan (CEAP) ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนหลักสำคัญภายใต้ EU Green Deal เพื่อสร้างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และสร้างโอกาสทางธุรกิจและอาชีพเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยแผนปฏิบัติการนี้มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน (Sustainable Products) ที่ครอบคลุมตลอดทั้งวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การออกแบบ การส่งเสริมกระบวนการผลิต การสนับสนุนการบริโภคที่ยั่งยืน และการหมุนเวียนทรัพยากรที่ใช้แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด◦ แผนปฏิบัติการนี้จะมุ่งเน้นอุตสาหกรรมที่มีการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ และมีศักยภาพที่จะเกิดการหมุนเวียนสูง เช่น อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) แบตเตอรี่และยานยนต์ บรรจุภัณฑ์ พลาสติก สิ่งทอ อาคารและก่อสร้าง อาหาร น้ำ และสารอาหารต่าง ๆ เป็นต้น
𒊹 การจัดทำกรอบการติดตามประเมินผล (Circular Economy Monitoring Framework) ที่มีการระบุตัวชี้วัดที่ชัดเจน เช่น Material Footprint และ Consumption Footprint เป็นต้น
- การออกแนวทาง/ข้อบังคับเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์
𒊹 โดยเฉพาะธุรกิจอาคารและการก่อสร้าง มีการใช้พลังงานและทรัพยากรต่าง ๆ ปริมาณมาก จึงต้องมีการบังคับใช้กฎระเบียบด้านประสิทธิภาพพลังงานในอาคารที่ครอบคลุมทั้งการก่อสร้างอาคารใหม่ และการปรับปรุงอาคารที่มีอยู่ เช่น Energy Performance of Building Directive การทบทวน Construction Products Regulation เป็นต้น
- การเร่งปฏิรูประบบคมนาคมและการขนส่งที่ยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพ
𒊹 การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคคมนาคมขนส่งลง 90% ภายในปี 2050 โดยครอบคลุมทั้งทางถนน ทางราง ทางอากาศ และทางน้ำ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Climate Neutrality ของ EU ในปี 2050 (เนื่องจากภาคคมนาคมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 1 ใน 4 ของปริมาณการปล่อยทั้งหมด)
𒊹 การออกนโยบาย "Sustainable and Smart Mobility" และออกกฎระเบียบเฉพาะสำหรับการคมนาคมแต่ละรูปแบบ อาทิ
◦ Alternative Fuels Infrastructure Regulation เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อโครงสร้างพื้นฐานรองรับยานพาหนะที่ใช้เชื้อเพลิงทางเลือก
◦ ReFuel EU Aviation เพื่อส่งเสริมการเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuels: SAF) และ
◦ New Urban Mobility Framework เพื่อจัดทำแผนการเดินทางอย่างยั่งยืนในเมืองใหญ่ทั้งหมด ภายในปี 2025 เป็นต้น
- การขับเคลื่อนกลยุทธ์ "Farm to Fork" หรือการออกแบบระบบการผลิตและบริโภคอาหาร (Food System) ที่ดีต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศ
𒊹 ความมั่นคงทางอาหารเป็นหัวใจสำคัญใน EU Green Deal โดยอาหารที่วางจำหน่ายใน EU ต้องมีความปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีศักยภาพในการพัฒนามาตรฐานด้านอาหารต่าง ๆ ที่ EU กำหนด ให้เป็นมาตรฐานระดับโลกด้านความยั่งยืนได้
𒊹 กลยุทธ์ที่เร่งปฏิรูประบบการผลิตอาหารสู่ความยั่งยืนได้มีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา ได้แก่
1) มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในเชิงบวกหรือเป็นกลาง
2) ลดหรือสร้างการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
3) ลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
4) สร้างความเชื่อมั่นต่อความมั่นคงของอาหาร
5) มีคุณค่าทางอาหารและเสริมสร้างสุขอนามัย
6) สามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ
7) มีการจัดการขยะตลอดทั้งระบบอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ
𒊹 กลยุทธ์ด้านอาหารนี้จะส่งเสริมความสำเร็จขององค์ประกอบอื่น ๆ เช่น เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยการบริหารจัดการด้านการขนส่ง การจัดเก็บอาหาร บรรจุภัณฑ์ ขยะและของเสียจากระบบอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ ยังกระตุ้นให้เกิดการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ตามเป้าหมาย UN SDG ที่ 12 (Responsible Consumption and Production) อีกด้วย
- การปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศ (Ecosystems) และความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity)
𒊹 ระบบนิเวศมีบทบาทสำคัญในหลายส่วนไม่ว่าการเป็นแหล่งอาหาร น้ำและอากาศที่สะอาด ลดความรุนแรงของการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ และสร้างสมดุลของระบบต่าง ๆ ในโลกของเรา
𒊹 การดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ Biodiversity strategy for 2030 การออกกฎหมาย Nature Restoration Law ฉบับแรกของ EU และการนำเสนอมาตรการเพื่อรับมือความท้าทายในประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ (adoption of global biodiversity framework)
- การปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Pollution) เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ปราศจากสารพิษ (A toxic-free environment)
𒊹 จัดทำ Zero Pollution Action Plan เพื่อจัดการกับมลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน ไม่ให้สร้างผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์และระบบนิเวศ โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น
◦ การจัดทำ Chemical Strategy for Sustainability เพื่อจัดการสารเคมีอันตรายต่าง ๆ
◦ Zero Pollution Action Plan for water, air and soil เพื่อป้องกัน บรรเทา ติดตามและรายงานมลพิษต่าง ๆ และ
◦ การปรับปรุงมาตรการการจัดการมลพิษในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ครอบคลุมทั้งด้านพลังงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น
โดยสรุป การพิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆ ภายใต้ EU Green Deal ช่วยฉายภาพถึงแนวคิดและแนวทางการขับเคลื่อนของ EU ในอนาคต รวมถึงความสัมพันธ์และผลที่อาจกระทบกับธุรกิจไทย ซึ่งนำไปสู่การพิจารณากฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบนั้น ๆ ในขั้นถัดไป เพื่อวางแนวทางการดำเนินงาน กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติที่สอดคล้องต่อไป
ภาพรวมผลกระทบของกฎหมายและกฎระเบียบของ EU ต่อผู้ประกอบการไทย
EU ได้มีการออกกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรการต่าง ๆ ภายใต้ EU Green Deal เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ทั้งกับประเทศสมาชิก EU และมีผลบังคับใช้กับผู้ประกอบการที่อยู่ในประเทศนอก EU ที่มีกิจกรรมเชื่อมโยงกับ EU หรือที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าที่เกี่ยวข้องทั้งหมด (ในกฎระเบียบบางฉบับของ EU ใช้คำว่า "Global Value Chains") โดยห่วงโซ่คุณค่านี้ หมายถึง กระบวนการทั้งหมดในการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่การจัดหาและผลิตวัตถุดิบ การผลิตสินค้าและบริการ การขนส่ง การกระจายสินค้า การใช้งาน และการจัดการขยะและของเสีย รูปที่ 2 แสดงตัวอย่างกฎหมายและกฎระเบียบของ EU ที่มีผลบังคับใช้แล้ว หรือมีร่างกฎหมายที่ชัดเจนว่ามีผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎระเบียบ เช่น บริษัทที่มีการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปบางประเภทตามที่กฎหมายกำหนดที่วางขายใน EU บริษัทที่มีการส่งออกวัตถุดิบบางชนิด (Raw Materials) หรือชิ้นส่วน (Parts) เพื่อนำไปประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ บริษัทสัญชาติไทยที่ไปดำเนินธุรกิจทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการใน EU หรือสาขาของบริษัทแม่สัญชาติ EU ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เป็นต้น
สำหรับความรับผิดชอบและภาระหน้าที่ (Responsibility and Obligations) ที่ต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด ภายใต้ EU Green Deal มุ่งเน้นที่ความยั่งยืนและการดำเนินงานตามกรอบด้าน ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ) โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎระเบียบ ต้องดำเนินการตามที่ระบุในกฎหมายอย่างเคร่งครัด ตัวอย่างเช่น
▹ ภายใต้ CBAM ผู้ผลิตสินค้าที่อยู่ในขอบเขตประเภทสินค้าที่ EU กำหนด และมีการส่งออกสินค้าดังกล่าวเข้าไปยัง EU
รูปที่ 2 ตัวอย่างกฎหมายและกฎระเบียบของ EU ที่จะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย
- จะเข้าข่ายต้องดำเนินการเก็บข้อมูล คำนวณ และรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้า (Embedded Emissions) ตามขอบเขตและระเบียบวิธีการ (Methodology) ที่ EU กำหนด
- หากไม่รายงานจะมีโทษปรับตามปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ไม่ได้รายงาน (โดยปัจจุบันกำหนดช่วงค่าปรับไว้ที่ 10 – 50 ยูโรต่อ 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์หรือเทียบเท่า และอาจมีการปรับให้สูงขึ้นได้อีก) หรือ
▹ สำหรับ CSRD และ CS3D ที่ใช้เกณฑ์การพิจารณาความเข้าข่ายตามกฎหมายโดยใช้ข้อมูลเฉพาะของบริษัท (Specific company information) เช่น ยอดขายต่อปี จำนวนลูกจ้าง ข้อมูลจากงบการเงิน เป็นต้น
- บริษัทที่เข้าข่ายตามที่กฎหมายกำหนดจะต้องดำเนินการต่าง ๆ ตามที่กำหนด อาทิ การตรวจสอบวิเคราะห์สถานะด้านต่าง ๆ อย่างเข้มงวด (due diligence) การรายงานข้อมูลตามมาตรฐานของ EU การจัดทำแผนปฏิบัติการและแผนการติดตามผล ซึ่งหากบริษัทไม่ดำเนินการจะมีโทษทางการเงิน (financial penalties) เช่น การคิดค่าปรับเป็นสัดส่วนร้อยละของยอดขายของบริษัท เป็นต้น
▹ ดังนั้น จึงสามารถสรุปปัจจัยสำคัญของกฎหมาย/ข้อบังคับของ EU ที่ผู้ประกอบการไทยสามารถนำมาพิจารณา อาทิ
1) หลักเกณฑ์สำหรับตรวจสอบความเข้าข่ายของกฎหมาย
2) ข้อกำหนดเฉพาะของแต่ละประเทศสมาชิกใน EU ที่บริษัทมีการดำเนินธุรกิจหรืออยู่ในห่วงโซ่คุณค่าที่เกี่ยวข้อง หน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด
3) ระยะเวลาเริ่มบังคับใช้
4) รายการและวิธีการที่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องตามที่ EU กำหนด
5) อื่น ๆ
บทสรุป
EU Green Deal เป็นนโยบายหลักด้านความยั่งยืนของสหภาพยุโรป ที่จะทำให้ EU สามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2050 และเกิดการเปลี่ยนผ่านในด้านต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการดำเนินงานด้านความยั่งยืน และ ESG ในประเทศอื่น ๆ ที่อยู่นอก EU อีกด้วย โดยการออกกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรฐานต่าง ๆ มาบังคับใช้อย่างเป็นระบบ มีการกำหนดภาระหน้าที่ ขอบเขตและวิธีการดำเนินงานที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐานเดียวกัน
การดำเนินงานตามกฎหมายและกฎระเบียบของ EU เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎระเบียบ โดยความท้าทายที่เห็นชัดเจน คือ การมีค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเพื่อปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด เช่น การจัดตั้งหน่วยงานหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อรับผิดชอบ การเก็บรวบรวมข้อมูล การคำนวณและรายงานข้อมูลต่าง ๆ การตรวจสอบวิเคราะห์สถานะอย่างเข้มงวด เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนดังกล่าวกับต้นทุนต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นหากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือที่เรียกว่า "Cost of non-compliance" อย่างรอบคอบและรอบด้าน
บทความตอนต่อไป จะนำเสนอข้อมูลเฉพาะเกี่ยวกับกฎหมายและกฎระเบียบของ EU ที่กำลังมีผลบังคับใช้ คือ EU Deforestation Regulation (EUDR) และประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบการควรพิจารณา
คลิกเพื่อเข้าสู่บทความตอนที่ 2 เจาะลึก EUDR: กฎหมายใหม่ EU ที่ธุรกิจไทยต้องรู้เพื่อความยั่งยืน
แหล่งข้อมูล
EUROPEAN COMMISSION, The European Green Deal, 2019, COMMUNICATION FROM THE COMMISSION TO THE EUROPEAN PARLIAMENT, THE EUROPEAN COUNCIL, THE COUNCIL, THE EUROPEAN ECONOMIC AND SOCIAL COMMITTEE AND THE COMMITTEE OF THE REGIONS.
https://ec.europa.eu/stories/european-green-deal/
https://climate.ec.europa.eu/eu-action/european-climate-law_en
https://environment.ec.europa.eu/strategy/circular-economy-action-plan_en
https://food.ec.europa.eu/horizontal-topics/farm-fork-strategy_en
https://environment.ec.europa.eu/strategy/biodiversity-strategy-2030_en
https://environment.ec.europa.eu/strategy/zero-pollution-action-plan_en