Topic

มุมมองการแก้ปัญหาโลกร้อนจากภาคธุรกิจ บทเรียนสำคัญจาก 3 บริษัทมหาชนสัญชาติไทย PTT BANPU และ AMATA

ปัญหาโลกร้อน วิกฤตที่มนุษย์เป็นคนก่อ แต่ส่งผลต่อทุกเผ่าพันธุ์บนโลก ซึ่งปัญหาสภาพอากาศที่เกิดขึ้นก็ส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมมากมาย ในโอกาสนี้ THE STANDARD ได้สนทนากับเหล่าผู้บริหารจากสองบริษัทด้านพลังงานและหนึ่งนิคมอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศไทย ได้แก่ PTT BANPU และ AMATA ถึงมุมมอง วิสัยทัศน์ และแนวทางในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งทั้ง 3 บริษัท ต่างได้รับรางวัลบริษัทจดทะเบียนด้านความยั่งยืนยอดเยี่ยม (Best Sustainability Awards) จากงาน SET Awards 2019 ที่ผ่านมา

ย้อนไปเมื่อปี 2537 คำว่า ‘Climate Change’ หรือโลกร้อนตามเมกะเทรนด์ แทบจะไม่มีใครรู้จักและเอาใจใส่เลยสักนิด แต่คงไม่ใช่พี่ใหญ่ด้านพลังงานของเมืองไทย ซึ่งเราได้พูดคุยกับ คุณชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถึงประเด็นดังกล่าว เนื่องจากเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ที่ ปตท. ตระหนักถึงความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน จนได้รับเลือกเข้ารับรางวัล SET Awards กลุ่มรางวัล Sustainability Excellence ประเภท Best Sustainability Awards ในกลุ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงกว่า 1 แสนล้านบาท และยังคงมุ่งเน้นเรื่องความยั่งยืนด้วยความมุ่งมั่นเหมือนเช่นที่ผ่านมา

“ปตท. ทำธุรกิจพลังงานด้านน้ำมันและก๊าซมานาน 41 ปี โดยมีผู้ใช้เป็นเครื่องจักร ยานพาหนะทุกประเภท และระบบโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ดังนั้น การผลิตของเราก็ต้องดำเนินการตามมาตรฐานสากลทั้งหมด สำหรับกลุ่ม ปตท. เราพยายามดำเนินการให้สูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดมาโดยตลอด ปัจจุบันทุกสิ่งที่เราทำต้องคำนึงถึงหลักการ 3P เป็นหลัก โดย P แรก ได้แก่ เรื่องของ ‘People’ เริ่มจากพนักงาน ลูกค้า และคนไทยด้วยกัน จุดนี้เราได้สร้างนวัตกรรมให้กับประเทศมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้าน Infrastructure ท่อก๊าซ น้ำมัน ปิโตรเคมี ตลอดจนการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อสังคม เช่น การบริจาค และเรื่อง Social Enterprise 

“อันดับที่สอง ‘Planet’ คือโลกของเรา ที่เราต้องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็น ‘Greener and Cleaner’ ทุกคนต้องระดมสมองทำในเรื่องนี้ นี่เป็นเชิงนโยบาย เป็นกลไกที่เราจะขับเคลื่อนองค์กร นำไปสู่ความภาคภูมิใจ เน้นความโปร่งใส สู่ความยั่งยืน ขณะเดียวกันเราใช้ศักยภาพที่มีไปช่วยส่งเสริมภาพใหญ่ของประเทศ

“ตัวอย่างเช่น ความร่วมมือกับรัฐบาลจัดทำโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 ในการปลูกป่า 1 ล้านไร่ มาตั้งแต่ปี 2537 จนนำมาสู่การจัดตั้งสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. ในปัจจุบัน ได้ร่วมกันสร้างผืนป่าให้เกิดขึ้นในประเทศอย่างมากมาย และจากการคำนวณโดยคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่เราเริ่มปลูกผืนป่าขึ้นระหว่างปี 2537-2559 ผืนป่าของเราสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 31.72 ล้านตัน หรือประมาณ 2.18 ล้านตันต่อปี  

“และอันดับสุดท้าย ‘Prosperity’ เราต้องแข็งแรงด้วยในเชิงธุรกิจ ก่อนที่จะไปดูแลสังคม ประเทศ และโลก แต่ธุรกิจที่ทำก็ต้องเติบโตควบคู่ไปกับการดูแลโลกด้วย ทำให้ดีที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ตัดสินใจและออกแบบว่า ระยะกลาง ระยะยาว เราจะทำอย่างไร จะปรับปรุงให้เราสามารถอยู่รอดได้”  

คุณชาญศิลป์ ตรีนุชกร ฉายภาพวิสัยทัศน์และการทำงานของ ปตท. เมื่อวันวาน ก่อนเชื่อมโยงอดีตเข้าสู่การรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต ผ่านนโยบายหลักสำหรับการขับเคลื่อนองค์กร ก่อนเล่าต่อถึงหลากหลายโปรเจกต์ครอบคลุมทุกบริบทในการดำเนินธุรกิจที่ทาง ปตท. ต้องการสร้างความมั่งคั่ง ยั่งยืน กลับคืนสู่ประเทศไทยต่อไปในอนาคต  

“อย่างที่กล่าวไปว่า เรามุ่งเน้นเรื่องของ ‘People’ ก่อน โดยใช้คนเป็นคนทำ ใช้เทคนิค เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง และสนับสนุน ‘Sustainable Development Goal’ ขององค์การสหประชาชาติ ไม่ว่าจะเป็น โมเดลร้าน Cafe Amazon Circular Living สาขาพีทีที สามย่าน ภายใต้แนวคิด ‘Circular Living’ ที่มีความพิเศษคือ กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของร้าน เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากขยะรีไซเคิล สร้างโรงคัดแยกขยะ เพื่อนำมาทำเป็น RDF (เชื้อเพลิงขยะ) ด้วยการนำขยะจากชุมชนมาเป็นวัตถุดิบ ทำให้ลดปริมาณขยะที่ฝังกลบได้ 144,500 ตันต่อปี และกำลังดำเนินงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าจาก RDF ที่คาดการณ์ว่าจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ PEA ได้ 64,000,000 กิโลวัตต์ต่อปี ซึ่งเพียงพอต่อการใช้ไฟฟ้า 15,000 ครัวเรือนต่อปี และยังมีโปรเจกต์อื่นๆ อีกมากมาย แต่ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขสำคัญว่า คนไทยทุกคนต้องสามารถเข้าถึงการใช้พลังงานสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้ ได้รับสินค้าและบริการที่เป็นธรรม ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่งคั่ง ยั่งยืน ทุกวันนี้น้ำมันที่ใช้ในด้านคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ กลุ่ม ปตท. มีมาร์เก็ตแชร์อยู่ในโรงกลั่นถึงเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงธุรกิจโรงงานผลิตปิโตรเคมี ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เหล่านี้คือความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งสิ้น”

นี่คือภาพของบ้าน ปตท. อย่างคร่าวๆ สำหรับการดำเนินงานตาม Sustainable Development Goal ขององค์การสหประชาชาติ โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20 เปอร์เซ็นต์ เทียบเท่า BAU หรือการปล่อยในการดำเนินงานตามปกติในปี 2030

เมื่อถามผลกระทบทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้น ก่อนจบบทสนทนา คุณชาญศิลป์ตอบทิ้งท้ายได้อย่างกระจ่างชัดและน่าขบคิดถึงข้อเท็จจริงที่ไม่ใช่แค่ความรู้สึก “กระแสที่มากับของที่เป็นจริงมันต้องตั้งสติ มีปัญญาในการคิด ลองดูสิครับวันนี้ ถ้าเราหยุดผลิตทุกอย่าง ประเทศเป็นอัมพาตไปหมดเลย คมนาคมไม่สามารถใช้ได้เลย เรือสินค้าบรรทุกคอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ รถบรรทุกขนาด 10-20 ตัน พวกนี้ต้องใช้น้ำมันหมด เพราะฉะนั้นน้ำมันยังเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ได้อยู่ เพียงแต่ว่าจะสามารถขยายให้เป็นพลังงานที่สะอาด จนกระทั่งทำให้อากาศดีได้อย่างไร

“หรืออย่างพลาสติกเองก็มีหลายประเภทมาก มีความทนทาน สามารถนำมารีไซเคิลได้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณใช้อย่างไร อย่าคิดว่าไม่มีประโยชน์ อย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ใช้พลาสติกมากกว่าประเทศไทยถึง 3 เท่าต่อคน ยกตัวอย่าง ที่ญี่ปุ่นเขาเอาขยะพลาสติกมาใช้ได้เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งวันนี้เขาขายขยะนะครับ เพราะไฟฟ้าเขาผลิตมาจากโรงไฟฟ้าขยะ”

มาต่อกันด้วยผู้นำหญิงในกลุ่มธุรกิจพลังงาน นั่นคือ คุณสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ซึ่งเธอเริ่มต้นบทสนทนากับเราผ่านรอยยิ้มมิตรไมตรี ในโอกาสที่ได้รับเลือกเข้ารับรางวัล SET Awards กลุ่มรางวัล Sustainability Excellence ประเภท Sustainability Awards of Honor ในกลุ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดระหว่าง 30,000-100,000 ล้านบาท 

“เรามองเรื่องพวกนี้มาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว ซึ่งตอนนั้นบ้านปูฯ ก็ได้กำหนดแนวทางเพื่อตอบรับความท้าทายในเรื่องที่โลกจะต้องใช้พลังงานสะอาด และเรื่องของดิจิทัลที่จะมาถึง ด้วยการจัดทำแผนกลยุทธ์ระยะยาวมาตั้งแต่ปี 2558-2563 ที่มีชื่อว่า ‘Greener & Smarter’ ขึ้นมา และแผนกลยุทธ์นี้ก็จะยังถูกใช้ต่อไปถึงปี 2568 เลย เพื่อส่งมอบพลังงานอย่างยั่งยืน ซึ่งหมายถึง 1. ต้องเป็นพลังงานที่สามารถจัดหาได้ด้วยราคาที่เหมาะสม (Affordable) 2. เป็นพลังงานที่มีความมั่นคง ยั่งยืน น่าเชื่อถือ (Reliable) และ 3. ซึ่งมีความสำคัญมากนั่นก็คือ พลังงานที่เราผลิตหรือจัดหามาทั้งหมดต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (ECO Friendly)”

นอกจากนั้น CEO หญิงคนเก่งยังเล่าต่อถึงแผนการดำเนินงาน เพื่อการสร้างธุรกิจอย่างยั่งยืนของบ้านปูฯ ในอนาคตอันเด่นชัด ให้เราฟังต่อทันที “ถ้าดูจากธุรกิจบ้านปูฯ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว กลุ่มธุรกิจหลักจะเป็นธุรกิจพลังงานฟอสซิลและธุรกิจผลิตไฟฟ้า แต่จากการให้ความสำคัญเรื่อง Climate Change เราได้มุ่งไปในส่วนที่เป็นพลังงานสะอาดและเพิ่มด้านเทคโนโลยีพลังงานให้มากขึ้น ผ่านหลักการ 3D ได้แก่ D ที่ 1 ก็คือ Decentralization คือผู้ประกอบธุรกิจสามารถเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยการทำโซลาร์บนหลังคาใช้เองได้ D ที่ 2 ก็คือ Digitalization ที่จะมีเรื่องของเทคโนโลยี เรื่องของ Digital Platform มาเป็นตัวกลาง และ D ที่ 3 ก็คือ Decarbonization ที่เรากำหนดเป้าหมายลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ลงร้อยละ 25 สำหรับธุรกิจถ่านหิน และร้อยละ 15 สำหรับธุรกิจไฟฟ้า ภายในปี 2563 เมื่อเทียบกับปี 2555 (ปีฐาน) ซึ่งเราได้เริ่มเดินหน้าลงทุนและพัฒนาธุรกิจใหม่ที่เป็นพลังงานที่สะอาดขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวแล้ว ส่วนแรกคือ กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน ที่เราลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ (Shale Gas) ไปแล้วประมาณ 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในสหรัฐอเมริกา 

“ส่วนที่ 2 คือกลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา เราได้เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจำนวน 235 เมกะวัตต์ ทั้งในประเทศจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม นอกจากนี้ทิศทางที่จะเติบโตต่อไปข้างหน้า เรากำลังมุ่งขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และในอนาคตจะครอบคลุมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ ที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นในภูมิภาคอเมริกาและในเอเชียแปซิฟิก

“และส่วนที่ 3 คือกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ซึ่งมุ่งเน้นดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจร ระบบจัดเก็บพลังงาน และระบบการจัดการเทคโนโลยีพลังงาน นั่นเป็นเหตุที่ว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2562 ที่ผ่านมาเราได้ปรับโครงสร้างการบริหารธุรกิจใหม่ โดยแบ่งเป็น

  1. การบริหารธุรกิจเหมืองแร่ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 
  2. การบริหารงานธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานพื้นฐาน (Base-Load) ก็คือโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและโรงไฟฟ้าถ่านหิน 
  3. การบริหารงานธุรกิจผลิตพลังงานสะอาดร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยบริษัทบ้านปู เน็กซ์ ที่ได้จัดตั้งขึ้นใหม่

“ซึ่งบ้านปูฯ ถือเป็นองค์กรผู้ปรับเปลี่ยนเรื่องพลังงานให้เป็นเรื่องของความยั่งยืน และสามารถให้พลังงานได้อย่างครบวงจรได้อย่างโดดเด่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” 

ปัจจุบัน บมจ. บ้านปูฯ ยังได้สร้างโปรเจกต์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่งานบริหารและกิจกรรมต่างๆ อย่างมากมาย โดยมีหน่วยงาน HSEC หรือ Health, Safety, Environment and Community ดูแลเรื่องนี้ในทุกประเทศ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศไทย กับบทบาทอันโดดเด่นในการดูแลเรื่องของ Biodiversity หรือความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศที่บ้านปูฯ ได้เข้าไปทำธุรกิจ โดยมีคุณสมฤดีเป็นประธานของ Sustainability Development Committee คอยกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ด้วยเป้าหมายว่า ธุรกิจของบ้านปูฯ ต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กับชุมชน และเธอยังเน้นถึงความสำคัญเกี่ยวกับบทบาทในอุตสาหกรรมพลังงาน เพื่อการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นการส่งท้ายบทสนทนาในครั้งนี้เอาไว้ด้วย

“ตรงนี้ถือว่าเป็นหน้าที่โดยตรงของทุกบริษัท ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม เราต้องกำหนดนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยให้ความสำคัญใน 3 ด้าน คือ 1. เรื่องการดำเนินธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งอันนี้เป็นหัวใจอยู่แล้ว 2. ด้านสิ่งแวดล้อม ที่ต้องมุ่งเน้นพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดทั้งผลประกอบการและสิ่งแวดล้อมที่ดี และ 3. ด้านสังคม ดังนั้น ถ้าทุกบริษัทมีนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการมีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนในพื้นที่ที่เราดำเนินธุรกิจอยู่ ก็จะสามารถทำให้ธุรกิจเติบโตไปอย่างยั่งยืนได้”

มาถึงผู้บริหารอารมณ์ดีท่านสุดท้าย คุณวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) นิคมอุตสาหกรรมยืนหนึ่งของประเทศไทย ที่วันนี้ในเรื่องการเตรียมตัวรับมือวิกฤตการณ์ Climate Change ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าสองบริษัทด้านพลังงานที่ผ่านมา พร้อมการันตีด้วยรางวัล SET Awards กลุ่มรางวัล Sustainability Excellence ประเภท Highly Commended in Sustainability Awards ในกลุ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดระหว่าง 10,000-30,000 ล้านบาท 

“Climate Change เราดำเนินการแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อครับ 1. คือ เรื่องการสร้างพื้นที่สีเขียวภายในพื้นที่นิคมฯ ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา เรามีการปลูกต้นไม้ไปกว่า 243,000 ต้น และผมการันตีได้เลยว่า จะสามารถอยู่รอดได้เกิน 90 เปอร์เซ็นต์ เพราะเราดูแลอย่างเต็มที่ อย่างน้อยที่สุดต้นไม้เหล่านี้ก็สามารถช่วยลดคาร์บอนฯ เพิ่มออกซิเจน ซึ่งส่วนนี้เราทำกันมาอย่างจริงจัง และจะทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงวันพระราชสมภพของในหลวงรัชกาลที่ 10 หรือวันเกิดของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ที่ผมจะเน้นเป็นกุศโลบายให้ปลูกเลย หรือแม้วันเกิดของคนทั่วไปที่อยู่ภายในนิคมฯ ก็ต้องปลูกทันทีหนึ่งต้น 

“2. คือการลดใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ พยายามทำให้เกิดเป็น Circular Economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยวิธีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และนำกลับมาใช้ใหม่ นั่นคือเรื่องของน้ำ เรานำน้ำจากธรรมชาติมาบำบัด แล้วเราก็ส่งให้โรงงาน หลังจากโรงงานใช้น้ำเสร็จจะส่งน้ำเสียกลับคืนสู่นิคมฯ เราก็จะนำน้ำเสียเหล่านี้มาผ่านกระบวนการบำบัดจนสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด โดยทดแทนน้ำดิบได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ปัจจุบันทางนิคมฯ ใช้น้ำอยู่วันละ 80,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เท่ากับสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ถึง 40,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน 

“เรื่องที่ 3 ขยะมูลฝอยของเรากว่า 20,000 ตันต่อปี เรานำไปฝังกลบเหลือเพียงแค่ 0.64 เปอร์เซ็นต์ น้อยมากนะครับ แล้วที่เหลือ 99.36 เปอร์เซ็นต์ นำมาใช้ไปยังกระบวนการต่างๆ ตามหลัก Reduce, Reuse และ Recycle ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนไปเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF) ทดแทนในเตาเผาปูนซีเมนต์ หรือแม้กระทั่งเอาพลาสติกไปทำถนนร่วมกับพาร์ตเนอร์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อใช้สัญจรภายในนิคมฯ นอกจากนี้เรายังเปลี่ยนระบบไฟส่องสว่างบนถนนทั้งนิคมฯ ระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร มาเป็นหลอด LED ทั้งหมด” 

ทั้งหมดเหล่านี้ คุณวิบูลย์มองว่า เป็นเรื่องของการลงทุนระยะยาวที่ได้ผลตอบแทนคุ้มค่า แม้ในเบื้องต้นอาจต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงบ้างก็ตาม เช่นเดียวกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น การประชุมด้วย VDO Conference ของผู้บริหาร แทนการเดินทางทั้งในและนอกประเทศ ทำให้ลดค่าใช้จ่าย และช่วยลดภาวะการใช้เชื้อเพลิง ลดการเกิดมลภาวะทางอากาศ 

ขณะที่อีกหนึ่งนโยบายโดดเด่นในการสร้างธุรกิจภายใต้ความยั่งยืน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมนั่นคือ การเปลี่ยนนิคมฯ รูปแบบ Production เดิม ทั้งหมดให้กลายเป็น Smart City ซึ่งคุณวิบูลย์ยอมรับกับ THE STANDARD ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ต้องไปให้ถึงเป้าหมายให้ได้ เพราะนี่คือจิตสำนึกของกลุ่มผู้บริหาร บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน ที่ต้องการฝากสิ่งดีๆ เอาไว้บนผืนโลกและพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น 

“ก่อนอื่นต้องเข้าใจความหมายของคำว่า Smart City นั่นคือการสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และถือเป็นความท้าทายมาก อย่างแรกเรื่องของพลังงาน แทนที่คุณจะใช้ฟอสซิล คุณก็ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ อย่างที่สองอะไรที่ก่อให้เกิดกิจกรรมน้อยๆ แต่ได้ผลผลิตเยอะๆ อันที่สามคือ สมอง นั่นก็คือการทำ R&D ภายในนิคมฯ จะต้องใช้ Utilities, Facilities เหล่านี้ร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ทรัพยากร

“แต่ถ้าจะให้ Smart ไปกว่านั้น ก็ต้องมองหาพาร์ตเนอร์ที่เก่งๆ แล้วเราก็มาร่วมมือกัน เช่น ตอนนี้เรามีโปรเจกต์ Smart Living เป็นการสร้างเมืองโยโกฮามาแห่งที่ 2 ภายใต้ชื่อโครงการ ‘Sabai District’ บนพื้นที่ 100 ไร่ บริเวณด้านหน้าของนิคมอมตะซิตี้ ชลบุรี โดยความร่วมมือดังกล่าวผ่านทางองค์กร Yokohama Urban Solution Alliance (YUSA) จัดตั้งขึ้นโดยเมืองโยโกฮามา ภายในเมืองโยโกฮามาแห่งที่ 2 มีโครงการที่เริ่มดำเนินการก่อสร้างไปแล้วคือ โครงการนิกโก้โฮเต็ล แล้วก็ใส่พวกเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้าไปทั้งหมด 

“และมี Smart Factory คือการปรับโรงงานให้ทำงานอย่างชาญฉลาด เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนในการดำเนินการ ด้วยเทคโนโลยี IOT (Internet of Things) ที่ทำให้เครื่องจักรสามารถสื่อสารกันเองได้ ซึ่งเราร่วมมือกับฮิตาชิ ในขณะเดียวกันฮิตาชิเองก็มาตั้งศูนย์ลูมาด้า (Lumada Center) เพื่อให้คำปรึกษากับโรงงานที่ต้องการยกระดับไปเป็น Smart Factory” 

จากบทสัมภาษณ์ของผู้บริหารทั้ง 3 ท่าน เราน่าจะมองเห็นอนาคตทางธุรกิจและความเป็นไปของโลกใบนี้ได้ชัดเจนมากขึ้น และขอทิ้งท้ายด้วยคำพูดของผู้บริหารอารมณ์ดี คุณวิบูลย์ กรมดิษฐ์ อีกสักครั้ง 

“มนุษย์บอกว่า เราชนะธรรมชาติ ผมถามจริงๆ ว่า เราชนะจริงหรือเปล่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการเอาคืนของธรรมชาติที่ถูกกระทำมาโดยตลอด จากฝีมือของพวกเราทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อมนุษย์ทำ มนุษย์ก็ต้องรับผิดชอบ ตามหลักการ Polluter Pays คุณทำลาย คุณก็ต้องเยียวยาครับ ผมเชื่อว่า ที่สุดแล้วเราต้องอยู่กับธรรมชาติ ถึงมีคำว่า ‘Save Earth, Safe Us’ เกิดขึ้นมา พอเราทำแบบนี้แล้วจะทำให้เกิด All Win เพื่อให้ได้ชัยชนะร่วมกันครับ ไม่ใช่ Win-Win ที่มีแค่คุณกับผม ทั้งนี้ คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือ คนรุ่นต่อๆ ไป เพราะฉะนั้น ขณะที่มีโอกาสคืนให้กับโลกอยู่ เรามารีบคืนกันเถอะครับ”

อ่านต่อ... https://thestandard.co/ptt-banpu-and-amata-fixing-global-warming/

Credit: The Standard: Stand up for the people https://thestandard.co/homepage/