Topic
Why Carbon Market? The Series: ตอนที่ 1 ความสำคัญของตลาดคาร์บอน
ตอนที่ 1 ความสำคัญของตลาดคาร์บอน: กลไกสำคัญในการแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
-
ความสำคัญของตลาดคาร์บอน
-
กลไกการทำงาน ประโยชน์ และความท้าทายที่เกี่ยวข้อง
-
บทบาทของตลาดคาร์บอนในประเทศไทย แนวทางการพัฒนาในอนาคต
-
บทบาทของภาคเอกชนและภาคการลงทุน
ตอนที่ 2 บทบาทของผู้ลงทุนในการขับเคลื่อนตลาดคาร์บอนและการเงินที่ยั่งยืน
ตอนที่ 3 บทบาทของบริษัทจดทะเบียนในตลาดคาร์บอน
ความผิดปกติของธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดที่มนุษยชาติกำลังเผชิญในศตวรรษที่ 21 การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเฉลี่ย การเพิ่มความถี่และความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติ และผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ล้วนเป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่าเราต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Intergovernmental Panel on Climate Change [IPCC], 2021)
ซึ่งด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ธุรกิจควรต้องเริ่มลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยตนเองให้มากที่สุดก่อน หลังจากนั้นกลไกอย่าง 'ตลาดคาร์บอน (Carbon Market) จะเป็นอีกหนึ่งในเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ (Market-based Mechanism) ที่มีส่วนสำคัญในการลดปริมาณก๊าซฯ ส่วนที่เหลือเพื่อบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ตั้งไว้'
กลไกการทำงานของตลาดคาร์บอน
- เป็น 'ตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต(Carbon Credit)' ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs Reduction) ส่วนนึง โดยใช้กลไกตลาด(Market-based Mechanism)
- มีแนวคิดพื้นฐานคือ การกำหนดราคาให้กับ 'การปล่อยคาร์บอน' หรือที่เรียกว่า Carbon Pricing ซึ่งเป็นแนวคิดที่พัฒนามาจากหลักการสำคัญทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมอย่าง "Polluter Pays the Principle" ผู้ปล่อยมลพิษต้องจ่ายสำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Newell et al., 2013)
การดำเนินการของตลาดคาร์บอนแบ่งออกเป็น 2 ระบบหลัก ได้แก่
- ระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Cap-and-Trade System):
ในระบบนี้ รัฐบาลหรือหน่วยงานกำกับดูแลจะกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Cap) สำหรับอุตสาหกรรมหรือภาคส่วนต่าง ๆ และออกใบอนุญาตการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Allowances) ให้กับบริษัทต่าง ๆ โดยบริษัทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าที่ได้รับอนุญาต สามารถขายสิทธิส่วนที่เหลือ (Trade) ให้กับบริษัทที่ต้องการปล่อยก๊าซมากกว่าที่ได้รับอนุญาต (European Commission, 2021) - ระบบคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit System):
ในระบบนี้ โครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศจะได้รับคาร์บอนเครดิต โดยต้องผ่านการตรวจสอบ/ทวนสอบจากหน่วยงานรับรองจึงสามารถขายให้กับบริษัทหรือบุคคลที่ต้องการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตน (Gold Standard, 2021)
ประโยชน์ของตลาดคาร์บอน
ตลาดคาร์บอนมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น
- การสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ (Economic Incentives)
ตลาดคาร์บอนสร้างแรงจูงใจทางการเงินให้กับบริษัทและอุตสาหกรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยทำให้ Emission มีต้นทุน และการลด Emission มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Stavins, 2020) ซึ่งนำไปสู่การลงทุนในเทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology) ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วโดยคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 180 ล้านล้านบาทภายในปี 2573 และการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น - การส่งเสริมนวัตกรรม
(ด้วยประโยชน์ตามข้อ 1. ) ตลาดคาร์บอนจึงเป็นแหล่งระดมเงินทุนสนับสนุนให้กับบริษัทเพื่อใช้ในการพัฒนาธุรกิจ โดยบริษัทต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งนำไปสู่การคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage: CCUS) เป็นต้น - การกระจายเงินทุนสู่องค์กรที่ยังไม่สามารถปรับตัวต่อวิกฤติสภาพภูมิอากาศได้
กลไกคาร์บอนเครดิตช่วยให้เกิดการระดมทุน/กระจายเงินทุน จากบริษัทที่ต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตไปสู่บริษัทที่พัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น โครงการรักษาป่า การฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ หรือโครงการ Nature-based Solution เป็นต้น ซึ่งบริษัทเหล่านี้อาจไม่มีเงินทุนเพียงพอในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจด้วยตนเอง (UNFCCC, 2021) - การเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการรับมือวิกฤติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลดก๊าซเรือนกระจก
ตลาดคาร์บอนช่วยให้เกิดการแข่งขันเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วน/อุตสาหกรรมนั้น ๆ ด้วยต้นทุนต่ำกว่าเดิม กล่าวคือบริษัทสามารถลดก๊าซเรือนกระจกที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีต้นทุนต่ำกว่าเดิมตามหลักการเศรษฐศาสตร์ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Competitive Market) (World Bank, 2020)
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: NATURE-BASED SOLUTION (NBS) …ทางรอดของธุรกิจในปัจจุบัน
ความท้าทายและข้อจำกัดของตลาดคาร์บอน
แม้ว่าตลาดคาร์บอนจะมีศักยภาพสูงในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ก็มีความท้าทายและข้อจำกัดที่ต้องพิจารณา ได้แก่
- การออกแบบและดำเนินการตลาดคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญทางเทคนิคและการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ (ICAP, 2021)
- ความน่าเชื่อถือของตลาดคาร์บอน (Integrity of Carbon Market) ทำได้ยาก และ/ หรือมีต้นทุนสูง เพราะต้องอาศัยการวัดหรือคำนวน การตรวจสอบข้อมูลการลดก๊าซเรือนกระจก กระบวนการได้มาซึ่งข้อมูลนั้น รวมถึงการรายงาน ที่แสดงความโปร่งใสซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของตลาดคาร์บอน
- ความเสี่ยงต่อข้อมูลปริมาณคาร์บอนทางบัญชี (Carbon Accounting) หรือคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองแล้ว อาจเกิดขึ้นเมื่อบริษัทย้ายโครงการ/การผลิตไปยังประเทศที่มีกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากกว่าหรือน้อยกว่า ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลปริมาณคาร์บอนโดยรวมเปลี่ยนแปลงไป (Branger & Quirion, 2014)
- ราคาคาร์บอนในตลาดอาจมีความผันผวนสูง ซึ่งอาจส่งผลต่อความเสี่ยงในการลงทุนและการวางแผนระยะยาวของบริษัทต่าง ๆ ได้ (Koch et al., 2016)
บทบาทของตลาดคาร์บอนในประเทศไทย
ประเทศไทยได้แสดงความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่าน 'การกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่แต่ละประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC)' ภายใต้ความตกลงปารีส โดยตั้งเป้าหมายระยะกลางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับปีฐาน (ONEP, 2022) ซึ่งเมื่อพิจารณาผลการดำเนินการกับระยะเวลาที่เหลือแล้ว
ตลาดคาร์บอนจึงเป็นกลไกสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ให้ทันเวลาผ่านการดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ดังนี้
- การพัฒนาตลาดคาร์บอนภายในประเทศ
ประเทศไทยเริ่มพัฒนาตลาดคาร์บอนภายในประเทศตั้งแต่ปี 2021 เพื่อเป็นอีกเครื่องมือที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกบางส่วนผ่านกลไกตลาดในการระดมทุน โดยสามารถแยกแยะลักษณะของตลาดคาร์บอนได้ 3 รูปแบบ ดังนี้- ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Compliance Carbon Market)
- จุดประสงค์: เพื่อพัฒนาโครงการการลด/ดูดซับก๊าซเรือนกระจก'ตามเป้าหมาย NDCs ภายในประเทศ'
- ระบบการดำเนินการ: ระบบซื้อขายสิทธิ/ใบอนุญาตในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Cap-and-Trade System)
- การซื้อ-ขาย: บริษัทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าเพดานที่รัฐกำหนด ต้องเข้าร่วมตลาดคาร์บอนภาคบังคับเพื่อซื้อใบอนุญาตฯในการชดเชยส่วนที่ปล่อยเกิน
- แนวทาง: บริษัทจะได้รับสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้ระบบซื้อขาย ETS ที่สามารถใช้คาร์บอนเครดิตจากโครงการอื่น เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตัวเองได้
- ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market)
- จุดประสงค์: เพื่อพัฒนาโครงการการลด/ดูดซับก๊าซเรือนกระจก 'ตามเป้าหมายแต่ละองค์กร'
- ระบบการดำเนินการ: ระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit System)
- การซื้อ-ขาย: บริษัทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าเกณฑ์ที่รัฐกำหนด สามารถเข้าร่วมตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจได้ โดยจะมีกระบวนการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/ดูดซับได้ของโครงการที่พัฒนาขึ้นมา และแปลงเป็นคาร์บอนเครดิตสำหรับใช้ในตลาดคาร์บอน เพื่อระดมทุนพัฒนาธุรกิจต่อไป
- แนวทาง: ผู้ซื้อจะเป็นผู้ได้ถือครองสิทธิ์/ ใบอนุญาตการลดก๊าซเรือนกระจกจากโครงการนั้น ๆ และเป็นผู้สนับสนุนโครงการให้ดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกต่อไปได้
- ตลาดคาร์บอนระหว่างประเทศ (Article 6 Carbon Market)
- จุดประสงค์: เพื่อพัฒนาโครงการการลด/ดูดซับก๊าซเรือนกระจก 'และบรรลุเป้าหมาย NDCs ของประเทศนั้น ๆ ร่วมกัน
- ระบบการดำเนินการ: ระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit System)
- การซื้อ-ขาย: มี UNFCCC เป็นผู้กำกับดูแล ตรวจสอบ และรับรองการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต
- แนวทาง: การซื้อขายโครงการคาร์บอนเครดิตภายใต้ Article 6 ต้องได้รับการอนุมัติให้มีการถ่ายโอนเครดิตระดับประเทศ (ITMOs) ก่อน
- ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Compliance Carbon Market)
- การยกระดับความน่าเชื่อถือของตลาดคาร์บอน-ระบบคาร์บอนเครดิต
- ประเทศไทยมีมาตรฐานการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (T-VER) ทั้งในระดับ Standard และ Premium ที่ส่งเสริมให้ภาคเอกชนและชุมชนทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงพัฒนาความสามารถที่จะได้รับการประเมินเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก-เพื่อแปลงเป็นคาร์บอนเครดิตที่ใช้ในการแลกเปลี่ยน ถ่ายโอน หรือซื้อขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจได้
สำหรับประเทศไทย กลไกตลาดคาร์บอน-ระบบคาร์บอนเครดิตจึงเป็นอีกเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสร้างแรงจูงใจทางการเงินและระดมเงินทุนสนับสนุนให้กับภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมต่าง ๆ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมนวัตกรรม ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจก และ/หรือโครงการด้านความยั่งยืนอื่น ๆ แม้จะมีความท้าทายในการดำเนินการต่าง ๆ อยู่ แต่เมื่อพิจารณาประโยชน์ที่ได้รับจากตลาดคาร์บอนที่ยกระดับความน่าเชื่อถือเพื่อช่วยขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทยในเวทีระดับโลกแล้ว นับว่าคุ้มค่า
การพัฒนาตลาดคาร์บอนภายในประเทศและการส่งเสริมภาคเอกชนในการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจก ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียของภาคตลาดทุนไทยต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตามความสำเร็จของตลาดคาร์บอนจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการสนับสนุนและมีส่วนร่วมในกลไกนี้
การพัฒนาตลาดคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือ จะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับประชาชนไทย และทั่วโลก
แนวโน้มและการพัฒนาในอนาคตของตลาดคาร์บอน
ปัจจุบันตลาดคาร์บอนมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยมีแนวโน้มและการพัฒนาที่สำคัญดังนี้:
- การเติบโตของมูลค่าตลาดคาร์บอนทั่วโลก
ตามรายงานล่าสุดของ World Bank (2024) มูลค่าของตลาดคาร์บอนทั่วโลก (Global Carbon Pricing Revenue) แตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 โดยครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกประมาณ 24% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของตลาดคาร์บอน - การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในตลาดคาร์บอน
เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น Blockchain และ AI กำลังถูกนำมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพ เพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการติดตามและตรวจสอบความน่าเชื่อถือของคาร์บอนเครดิต และกระบวนการซื้อ-ขาย-ถ่ายโอน - การเชื่อมโยงระหว่างตลาดคาร์บอนและนโยบายสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ
มีแนวโน้มที่จะเกิดการเชื่อมโยงระหว่างตลาดคาร์บอนและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ มากขึ้น เช่น นโยบายด้านพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกที่กว้างมากขึ้น
บทบาทของภาคเอกชนและผู้ลงทุนในตลาดคาร์บอน
ภาคเอกชนและภาคการลงทุนมีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนกลไกตลาดคาร์บอน-ระบบคาร์บอนเครดิต รวมถึงสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนี้
- การตั้งเป้าหมาย Net Zero การวางแผน Net Zero Pathway และการประเมิน/ทวนสอบ/เปิดเผยข้อมูล GHGs ตามแนวทางวิทยาศาสตร์ (Science-based)
ตามหลักการของ Science Based Targets initiative (SBTi) การที่องค์กรจะตั้งเป้าหมาย Net Zero โดยอิงหลักวิทยาศาสตร์ได้นั้น ต้องมีดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้ COMMIT > DEVELOP > SUBMIT > COMMUNICATE > DISCLOSE
- กล่าวคือการที่องค์กรจะตั้งเป้าหมาย Net Zero โดยอิงหลักวิทยาศาสตร์ได้นั้น ต้องมีการวางแผน Pathway การสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสีย และการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างโปร่งใสและต่อเนื่อง ซึ่งเหล่านี้เป็นรากฐานที่สำคัญต่อความน่าเชื่อถือของโครงการลดก๊าซเรือนกระจก/คาร์บอนเครดิต และตลาดคาร์บอน
- การลงทุนในบริษัทที่เข้าร่วมตลาดคาร์บอน หรือบริษัทที่พัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกคุณภาพสูง
จากข้อมูลของ Ecosystem Marketplace (2023) พบว่ามูลค่าการซื้อขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 ซึ่งอาจแสดงได้ว่าผู้ลงทุนและผู้ประกอบการเห็นประโยชน์จากการซื้อขายในตลาดคาร์บอน - การพัฒนานวัตกรรมทางการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ
สถาบันการเงิน พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินใหม่ ๆ ที่เชื่อมโยงกับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อสอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงกฎเกณฑ์/ข้อบังคับ เช่น Green/Social/Sustainability Bond เป็นต้น โดย Climate Bonds Initiative (2023) รายงานว่ามูลค่าการออกพันธบัตรเพื่อสภาพภูมิอากาศทั่วโลก (Climate Bond) เพิ่มขึ้นเป็น 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 - การสนับสนุนนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ
ภาคเอกชนมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในการสนับสนุนนโยบายเพื่อจัดการวิกฤติสภาพภูมิอากาศ รวมถึงนโยบายด้านความยั่งยืนในมิติอื่น ๆ อีกด้วย
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นมุมมองส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น และข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลล่าสุดที่มีอยู่ ณ เวลาที่เขียน (11:56:50 PM @07/17/2024)อย่างไรก็ตาม ตลาดคาร์บอนเป็นเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นข้อมูลบางส่วนอาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
เขียนโดย
ทยุต สิริวรการวณิชย์
SET ESG Academy
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
เอกสารอ้างอิง:
Branger, F., & Quirion, P. (2014). Climate policy and the 'carbon haven' effect. Wiley Interdisciplinary Reviews: Climate Change, 5(1), 53-71. https://wires.onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1002/wcc.245
Climate Focus. (2021). The Voluntary Carbon Market: Status and Opportunities. https://www.climatefocus.com/publications/voluntary-carbon-market-status-and-opportunities
European Commission. (2020). EU and Switzerland link their emissions trading systems. https://ec.europa.eu/clima/news-your-voice/news/eu-and-switzerland-link-their-emissions-trading-systems-2020-09-16_en
European Commission. (2021). EU Emissions Trading System (EU ETS). https://ec.europa.eu/clima/policies/ets_en
Gillenwater, M., Broekhoff, D., Trexler, M., Hyman, J., & Fowler, R. (2007). Policing the voluntary carbon market. Nature Climate Change, 1(6), 85-87. https://www.nature.com/articles/climate.2007.58
Gold Standard. (2021). What are carbon credits? https://www.goldstandard.org/resources/faqs
Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC). (2021). Climate Change 2021: The Physical Science Basis. https://www.ipcc.ch/report/ar6/wg1/
International Carbon Action Partnership (ICAP). (2021). Emissions Trading Worldwide: Status Report 2021. https://icapcarbonaction.com/en/publications/emissions-trading-worldwide-2021-icap-status-report
International Energy Agency (IEA). (2021). Net Zero by 2050: A Roadmap for the Global Energy Sector. https://www.iea.org/reports/net-zero-by-2050
Koch, N., Fuss, S., Grosjean, G., & Edenhofer, O. (2014). Causes of the EU ETS price drop: Recession, CDM, renewable policies or a bit of everything?—New evidence. Energy Policy, 73, 676-685. https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0301421514002262
Newell, R. G., Pizer, W. A., & Raimi, D. (2013). Carbon markets 15 years after Kyoto: Lessons learned, new challenges. Journal of Economic Perspectives, 27(1), 123-46. https://www.aeaweb.org/articles?id=10.1257/jep.27.1.123
Office of Natural Resources and Environmental Policy and Planning. (2020). Thailand's Updated Nationally Determined Contribution. https://www4.unfccc.int/sites/ndcstaging/PublishedDocuments/Thailand%20First/Thailand%20Updated%20NDC.pdf
Popp, D. (2019). Environmental policy and innovation: a decade of research. International Review of Environmental and Resource Economics, 13(3-4), 265-337. https://www.nowpublishers.com/article/Details/IRERE-0094
Science Based Targets initiative (SBTi). (2021). Companies Taking Action. https://sciencebasedtargets.org/companies-taking-action
Stavins, R. N. (2020). The future of US carbon-pricing policy. Environmental and Energy Policy and the Economy, 1(1), 8-64. https://www.journals.uchicago.edu/doi/abs/10.1086/706792
Thailand Greenhouse Gas Management Organization (TGO). (2021). Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER). http://ghgreduction.tgo.or.th/en/t-ver/t-ver-program.html
United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC). (2021). The Paris Agreement. https://unfccc.int/process-and-meetings/the-paris-agreement/the-paris-agreement
World Bank. 2024. State and Trends of Carbon Pricing 2024. © Washington, DC: World Bank. http://hdl.handle.net/10986/41544 License: CC BY 3.0 IGO.” https://hdl.handle.net/10986/41544
World Economic Forum. (2021). Blockchain could be a game changer for tracking carbon emissions. Here's how. https://www.weforum.org/agenda/2021/07/how-blockchain-and-crypto-can-help-fight-climate-change/