Topic
Carbon Footprint ตอนที่ 1
เราคงเคยได้ยินคำว่า Carbon footprint หรือ Greenhouse gas footprint กันมาบ้างในยุคที่ผู้คน หรือองค์กร พยายามหาวิธีการลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) ข้อมูลจากวิกิพีเดียสรุปไว้ว่า Carbon footprint คือจำนวนของ GHGs ที่บุคคล องค์กร หรือกิจกรรมหนึ่ง ๆ ปล่อยออกมาซึ่งมีส่วนทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน Carbon footprint ในหลาย ๆ กรณีแสดงออกมาในลักษณะปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และหรือก๊าซมีเทน (CH4) ซึ่งอาจมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล การตัดต้นไม้ การปรับปรุงที่ดิน การผลิตและการบริโภคสินค้าและบริการ เป็นต้น การทราบระดับของ Global carbon footprint เป็นตัวชี้วัดสำคัญของสภาวะโลกร้อน กล่าวโดยรวมคือตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา ระดับการปล่อย Carbon footprint ของโลกเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ สภาวะโลกร้อนถูกคาดการณ์ว่าอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1.5-2 องศาเซลเซียส ภายในปี ค.ศ. 2100 และหากจะแก้ปัญหาดังกล่าว ผู้เกี่ยวข้องต้องร่วมมือประกาศและปฏิบัติจริงให้เกิด Net zero carbon emissions ภายในปี ค.ศ. 2050
1. ความหมาย (Definition)
หน่วยงาน IPCC (The Intergovernmental Panel on Climate Change) ได้กำหนดความหมายของ Carbon footprint ไว้ดังนี้
“Measure of the exclusive total amount of carbon dioxide (CO2) that is directly and indirectly caused by an activity or is accumulated over the lifecycle stages of a product.”
หรือ “การวัดขนาดของ CO2 ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยตรงหรือโดยอ้อมจากกิจกรรมต่าง ๆ บนวัฏจักรอายุของผลิตภัณฑ์”
2. การบัญชีคาร์บอน (Carbon accounting)
การบัญชีคาร์บอน (Carbon accounting) หรือ การบัญชีด้านก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas accounting) เป็นกรอบวิธีการวัดและติดตามเกี่ยวกับก๊าซ GHGs ที่องค์กรมีการปล่อยออกมา รวมทั้งการนำเสนอโครงการที่จะช่วยลดการปล่อย GHGs เช่น โครงการปลูกป่า หรือโครงการผลิตและใช้พลังงานทดแทน
การกำหนดวิธีการวัด บันทึก และติดตาม จะทำให้ได้ข้อมูลพื้นฐาน “Emission baseline” และแผนกลยุทธ์รวมทั้งวิธีการที่จะลดการปล่อย GHGs ในระยะเวลาต่อ ๆ มา เกิดข้อมูลที่ถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ เทคนิคของ Carbon accounting ช่วยทำให้เข้าใจผลกระทบว่าผลิตภัณฑ์และบริการของธุรกิจนั้น ตลอดวัฏจักรชีวิตนั้นปล่อยก๊าซ GHGs ในปริมาณเท่าใดและมีวิธีการวัดอย่างไร เป็นต้น ช่วยให้ผู้บริโภค คู่ค้า และนักลงทุน เห็นความมุ่งมั่น ความใส่ใจ ขององค์กรในการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาโลกร้อน
3. สภาพการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas emission)
การปล่อยก๊าซ GHGs ที่สำคัญ ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งมาจากการเผาผลาญของเชื้อเพลิงฟอสซิล (ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ) ปัจจุบันกิจกรรมของมนุษย์เป็นผู้ที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซ GHGs เพิ่มขึ้นสูงกว่า 50% เทียบกับช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมและสะสมเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ ข้อมูลการปล่อย GHGs ในปี ค.ศ. 2010 สูงถึง 56 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี สูงมากกว่าในทศวรรษก่อนเป็นอย่างมาก
การใช้ไฟฟ้า พลังงานความร้อน และการคมนาคมขนส่ง เป็นกิจกรรมสำคัญหลักในการปล่อยก๊าซ GHGs สูงถึง 73% ของการปล่อยทั้งหมด ส่วนการตัดไม้ การปรับปรุงที่ดิน การเกษตรเป็นตัวการลำดับถัด ๆ มา
4. การคำนวณ (Calculation)
การวัด Carbon footprint อาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปได้บ้างตามลักษณะอุตสาหกรรม แต่เพื่อให้มีหลักการร่วมกัน Wright, Kemp, Williams ได้กำหนดความหมายของการวัด Carbon footprint ไว้ดังนี้
“A measure of total amount of carbon dioxide (CO2) and methane (CH4) emissions of a defined population, system or activity, considering all relevant sources, sinks and storage within the spatial and temporal boundary of the population, system or activity of interest calculated as carbon dioxide equivalent using the relevant 100-year global warming potential (GWP 100)”
“การวัดโดยคำนวณจากปริมาณ CO2 และ CH4 ที่องค์กรหนึ่ง ๆ ปล่อยออกมาจากระบบและจากกิจกรรมต่าง ๆ”
ทั้งนี้ The Greenhouse Gas Protocol ได้ขยายขอบเขตการวัด GHGs ใน Carbon footprint ดังนี้
- Carbon dioxide
- Methane
- Nitrous oxide
- Hydrofluocarbons
- Perfluorocarbons
- Sulphuric hexafluoride
- Nitrogen trifluoride
ปัจจุบันมีวิธีการคำนวณ Carbon footprints หลากหลายวิธีและมาตรฐาน เช่น
- Life-cycle assessment (LCA)
- ISO 14040:2006
- Greenhouse Gas Protocol
- etc
ที่มา : Wikipedia
บทความโดย
รศ.(พิเศษ)ดร.กฤษฎา เสกตระกูล
ที่ปรึกษา
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย