Topic

Carbon Footprint ตอนที่ 3

การวัด Carbon footprint มีความสำคัญทั้งในมิติภาพรวมขององค์กร และมิติผลิตภัณฑ์ขององค์กร เพราะการเข้าสู่ยุค Low carbon economy องค์กรจะถูกถามว่าการดำเนินงานขององค์กรและผลิตภัณฑ์ขององค์กรมีการปล่อยคาร์บอนและช่วยลดคาร์บอนเท่าใดและอย่างไร การวัด Baseline และการช่วยทำให้ Baseline ของ GHGs นั้นลดลงจึงเป็นเรื่องสำคัญในอนาคตอันใกล้

1. Carbon footprint ขององค์กรและผลิตภัณฑ์

Carbon footprint คือ ปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas emissions and removals) ที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมการดำเนินงานขององค์กรหรือที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์หรือบริการตลอดวัฏจักรชีวิต โดยวัดรวมอยู่ในรูปของตัน (กิโลกรัม) ของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ก๊าซเรือนกระจก (GHGs) มี 7 ชนิด ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรต์ (SF6) และไนโตรเจนไตรฟลูออไรต์ (NF3)

Carbon footprint แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ Carbon footprint ขององค์กร และ Carbon footprint ของผลิตภัณฑ์

1.1) Organization carbon footprint 

คือ ปริมาณการปล่อยและดูดกลับของ GHGs ที่เกิดจากกิจกรรมการดำเนินงานขององค์กร วัดรวมอยู่ในรูปของตัน (กิโลกรัม) ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าการทวนสอบ Carbon footprint ขององค์กรสามารถทำได้ตามมาตรฐาน ISO 14064 ซึ่งเป็นมาตรฐานเกี่ยวกับแนวปฏิบัติเพื่อจัดการ Carbon footprint ขององค์กร มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการปล่อย GHGs และสามารถทวนสอบผลปริมาณการปล่อย GHGs ได้

1.2) Product carbon footprint 

คือ ปริมาณ GHGs ที่ปล่อยออกจากผลิตภัณฑ์หรือบริการตลอดวัฏจักรชีวิต ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การจำหน่าย การใช้งาน และการจัดการของเสียหลังจากการใช้งาน วัดปริมาณออกมาในรูปแบบของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าการทวนสอบ Carbon footprint ของผลิตภัณฑ์จะกระทำตามมาตรฐาน ISO 14067 ซึ่งเป็นมาตรฐานการวัดปริมาณ และการรายงานของ Carbon footprint ของผลิตภัณฑ์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้องค์กรรู้วิธีการคำนวณ Carbon footprint ของผลิตภัณฑ์และมีความเข้าใจที่ดีสำหรับการลด Carbon footprint 

2. หลักการคำนวณ Carbon footprint ขององค์กร

การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 กิโลกรัม เท่ากับ Carbon footprint 1 กิโลกรัม และเนื่องจากก๊าซเรือนกระจกมีหลายชนิด การคำนวณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาก็จะถูกคิดในหน่วย คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) เช่น มาตรฐานค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ของรายงานประเมินสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของ IPCC ฉบับที่ 5 (2014) ได้กำหนดให้ก๊าซมีเทน มีค่าศักยภาพในการทำให้โลกร้อนเพิ่มขึ้น 28 เท่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซไนตรัสออกไซด์ มีค่าศักยภาพทำให้โลกร้อนอยู่ที่ 265 เท่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น

ดังนั้น หากเราปล่อยก๊าซมีเทน 1 กิโลกรัม จะหมายความว่าเราปล่อย Carbon footprint เท่ากับ 28 KgCO2e และหากเราปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ 1 กิโลกรัม ก็จะหมายความว่าเราปล่อย Carbon footprint 265 KgCO2e 

2.1) หลักการคำนวณ Carbon footprint ขององค์กร

โดยปริมาณ GHGs ที่ปล่อยออกมาและดูดกลับจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร โดยพิจารณาจากขอบเขตการวัด Carbon footprint ดังนี้

  • Scope 1 (Direct GHG emission) เช่น การเผาขยะ การฝังกลบขยะ การเดินทางโดยยานพาหนะขององค์กร การบำบัดน้ำเสีย การจัดการสิ่งปฏิกูล เป็นต้น
  • Scope 2 (Indirect GHG emission) เช่น การใช้กระแสไฟฟ้าที่ไม่ได้ผลิตเอง
  • Scope 3 (Indirect GHG emission) เช่น การเดินทางด้วยพาหนะที่ไม่ใช่ขององค์กรในสถานประกอบการของผู้รับจ้าง การจ้างเหมาบริการต่าง ๆ เป็นต้น


เมื่อรวบรวมข้อมูลกิจกรรมและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในหน่วยของ GHGs แล้วสามารถนำมาคำนวณให้อยู่ในรูป KgCO2e (กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) ตามสมการดังนี้

CO2 emission = Activity data + Emission factor 

โดยที่ Activity data = เป็นข้อมูลกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการปล่อย GHGs ซึ่งอาจมาจากข้อมูลปฐมภูมิและทุติยภูมิ ได้แก่

  • ค่าพลังงานไฟฟ้า หน่วยเป็น กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง(Kwh)
  • น้ำหนักของของเสีย หน่วยเป็นกิโลกรัม (Kg) หรือ ตัน (ton)
  • การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของยานพาหนะ หน่วยเป็นลิตร (l)
  • ระยะทางในการเดินทางโดยเครื่องบิน หน่วยเป็นกิโลเมตร (Km)
    เป็นต้น


Emission factor = ค่าคงที่ ๆ ใช้เปลี่ยน Activity da ta ให้ค่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

2.2) หลักการคำนวณ Carbon footprint ของผลิตภัณฑ์

Carbon footprint ของผลิตภัณฑ์ เป็นการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ ใช้หลักการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักร (LCA) สำหรับการประเมินจะพิจารณาตั้งแต่ขั้นตอนของการได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การขนส่ง การใช้งาน และการกำจัดเศษซากผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน โดยประเมินออกมาในรูปแบบของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ (หลักการคล้ายกับกรณีการคำนวณ Carbon footprint ขององค์กร แต่คิดเป็นต่อหน่วยของผลิตภัณฑ์ โดยใช้เทคนิคการประเมินวัฏจักรชีวิตตามอนุกรมมาตรฐาน ISO 14040, 14067 ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการ 4 ขั้นตอน คือ

  1. การกำหนดเป้าหมายและขอบเขตการศึกษา
  2. การวิเคราะห์บัญชีรายการ
  3. การประเมินผลกระทบ
  4. การแปลผล



โดยผลการศึกษาที่ได้จะใช้เป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงของผลิตภัณฑ์ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะซึ่งเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อันจะเป็นแนวทางไปสู่การพัฒนาเพื่อลดปริมาณการปล่อย GHGs ในอนาคต

 

ที่มา : bsigroup.com, techsauce.com, qa.kpru.ac.th, nstda-tiis.or.th

บทความโดย
รศ.(พิเศษ)ดร.กฤษฎา เสกตระกูล
ที่ปรึกษา
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 
 
------------------------------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง
 

Carbon Footprint ตอนที่ 1: วิธีการลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGS) Click

Carbon Footprint ตอนที่ 2: วิธีการต่าง ๆ ที่พยายามลด Carbon Footprint Click

Carbon Footprint ตอนที่ 3: การวัด Carbon Footprint Click

 

Carbon Footprint ตอนที่ 4: ตัวอย่างบริษัทที่มีการวัด Carbon footprint baseline Click

Carbon Footprint ตอนที่ 5: Key actions ของ Nestle Click

Carbon Footprint ตอนที่ 6: การจัดการดินและป่าไม้ของ Nestle Click

 

Coming Soon