Topic

Carbon Footprint ตอนที่ 7

บทความตอนนี้เป็น ตอนที่ 4 ว่าด้วยกรณีศึกษาของบริษัท Nestle ที่อธิบายสรุปกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการลด Carbon footprint ในกระบวนการทำธุรกิจของบริษัท สำหรับตอนนี้จะอธิบายถึงเป้าหมายและ Key actions ที่สำคัญในการลด Carbon footprint จากกระบวนการผลิต และกระบวนการด้านบรรจุภัณฑ์ โดยอ้างอิงจากเอกสารเผยแพร่ Nestle Net Zero Roadmap (March 2024)

1. การลด Carbon footprint ในกระบวนการผลิต

เริ่มต้นจากการให้ความรู้กับพนักงานทุกคน รวมทั้งพนักงานในกระบวนการผลิตให้มีความรู้ ความเข้าใจและผลกระทบจากเรื่อง Climate change ตลอดจนวิธีการต่าง ๆ ที่กระบวนการธุรกิจสามารถลด Carbon footprint ได้ โดยถือว่าเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ Nestle ให้ดีขึ้น

เวลามองผลิตภัณฑ์ทั้งหมด Nestle จะมองและแยกเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ (Product portfolio) โดยมี Portfolio managers และ Product managers เป็นผู้ดูแลและต้องใส่ใจแม้แต่เวลาเลือกวัตถุดิบเข้ามาผสมผสานให้เป็นผลิตภัณฑ์ก็ต้องคำนึงถึงประเด็นที่ต้องช่วยลด Carbon footprint ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ต้องทำงานร่วมกับฝ่ายวิจัยและพัฒนาเพื่อออกแบบเครื่องมือ Ecodesign tools มาช่วยในกระบวนการผลิตและให้ครอบคลุมถึง Supply Chains ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ทุกคนจะได้รับตัวชี้วัดการดำเนินงาน (KPIs) ที่เกี่ยวข้องกับการลด Carbon footprint เพื่อใช้เป็นเป้าหมายและติดตามผลอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้เป้าหมายในปี 2030 Nestle ตั้งเป้าว่าในกระบวนการผลิตของตนจะต้องลด Carbon footprint ลง 6 ล้านตัน CO2e เมื่อเทียบกับในปี 2018 ทั้งนี้โดยแยกรายละเอียดดังนี้

  • ลด Carbon footprint ลง 4.2 ล้านตัน CO2e จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่นำไปสู่ความยั่งยืนที่ดีกว่าเดิม
  • ลด Carbon footprint ลง 1.4 ล้านตัน CO2e จากการเปลี่ยนแปลงส่วนผสมของวัตถุดิบ เช่น การใช้ Plant-based foods มากขึ้น
  • ลด Carbon footprint ลง 0.2 ล้านตัน CO2e จากการนำกระบวนการ Circular business model มาใช้
  • ลด Carbon footprint ลง 0.2 ล้านตัน CO2e จากการปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักรในการผลิต

 
2. การลด Carbon footprint ในกระบวนการหีบห่อบรรจุภัณฑ์

โดยปกติการหีบห่อบรรจุภัณฑ์ด้านอาหารอย่างมีคุณภาพก็เพื่อทำให้เกิดความปลอดภัย ความสดใหม่เวลาผ่านการขนส่ง การเก็บรักษาจนกว่าจะถึงมือผู้บริโภค อย่างไรก็ดีระหว่างกระบวนการก็มีส่วนเกี่ยวกับการปล่อย Carbon footprint ออกมา จากข้อมูลพบว่าในกระบวนการด้านบรรจุภัณฑ์ของ Nestle นี้ ปล่อย Carbon footprint ถึง 12% ของยอดรวมการปล่อยทั้งหมดในปี 2018

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว Nestle ได้กำหนดเป้าหมายว่า ภายในปี 2025 บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดของ Nestle จะต้องมีลักษณะ Recycle หรือ Reuse และลดการใช้  Virgin plastics ลง 1 ใน 3 จากเดิมในปี 2018 จนถึงปัจจุบัน (2023) Nestle สามารถทำให้บรรจุภัณฑ์ 87% ของทั้งหมด และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติก 66% ของทั้งหมด เป็นแบบ Recycle และ Reuse แล้ว จึงคาดว่าภายในปี 2030 ซึ่งตั้งเป้าไว้ 100% น่าจะบรรลุได้

Institute of Packaging Science ที่ Lausanne,  Switzerland เป็น Partner ที่สำคัญของ Nestle ในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยได้ทำงานวิจัยร่วมกันเพื่อคิดค้น Safe packaging ออกมาทดแทนบรรจุภัณฑ์เดิมและตอบโจทย์ Package solution ดูแลสิ่งแวดล้อมที่ตลาดกำลังต้องการ

Nestle ได้ริเริ่มโครงการต่าง ๆ ในการลด Carbon footprint ในกระบวนการด้านบรรจุภัณฑ์ เช่น

  • การปรับปรุง ออกแบบบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ เช่น การเปลี่ยนจากการใช้วัสดุหลายชนิด (Composite materials) เป็นวัสดุชนิดเดียว (Single material) โดยนำทางเลือก Reusable หรือ Refillable เข้ามาพิจารณาด้วย
  • การเปลี่ยนแปลงจากการใช้ Virgin plastics มาเป็น Food-grade recycled plastics เข้ามาใช้ โดยสนับสนุนให้เกิดตลาดของวัสดุเหล่านี้ให้เติบโตขึ้น
  • การพัฒนาและสนับสนุนให้มีการเพิ่มอายุการใช้บรรจุภัณฑ์แบบ Recycle ที่ยาวนานขึ้นเพื่อลดปัญหาการเพิ่มขยะพลาสติกและลดปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ลง
  • การเพิ่มการใช้ Low-carbon energy ในกระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์
  • การรวบรวมและนำบรรจุภัณฑ์ที่ผู้บริโภคใช้แล้วกลับเข้ามาสู่กระบวนการ Recycle, reuse เพื่อลดขยะพลาสติกเข้าสู่สภาพแวดล้อม

สำหรับเป้าหมายในปี 2030 Nestle ตั้งเป้าว่าในกระบวนการด้านบรรจุภัณฑ์จะต้องลดการปล่อย Carbon footprint ลง 6.1 ล้านตัน CO2e เมื่อเทียบกับของปี 2018 โดยแยกรายละเอียดดังนี้

  • การ Recycle บรรจุภัณฑ์เดิมเพื่อยืดอายุการใช้งาน 1.8 ล้านตัน CO2e
  • การเปลี่ยนและใช้พลังงาน Low-carbon energy ในการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก 1.7 ล้านตัน CO2e
  • การลดการใช้บรรจุภัณฑ์ใหม่ โดยเพิ่มการใช้บรรจุภัณฑ์แบบ Reuse และ Refill 0.7 ล้านตัน CO2e
  • การเพิ่มการใช้บรรจุภัณฑ์ Pet plastic จากวัตถุดิบ Recycle 0.6 ล้านตัน CO2e
  • การเปลี่ยนจากการใช้ Composite materials มาเป็น Mono-materials 0.5 ล้านตัน CO2e
  • การเพิ่มการใช้ Recycled content จากพลาสติกอื่น ๆ 0.4 ล้านตัน CO2e
  • การเปลี่ยนจาก Plastic packaging เป็น Paper packaging 0.4 ล้านตัน CO2e

 

ที่มา : Nestle’s Net Zero Roadmap, March 2023

บทความโดย
รศ.(พิเศษ)ดร.กฤษฎา เสกตระกูล
ที่ปรึกษา
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 
 
------------------------------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง
 

Carbon Footprint ตอนที่ 1: วิธีการลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGS) Click

Carbon Footprint ตอนที่ 2: วิธีการต่าง ๆ ที่พยายามลด Carbon Footprint Click

Carbon Footprint ตอนที่ 3: การวัด Carbon Footprint Click

 

Carbon Footprint ตอนที่ 4: ตัวอย่างบริษัทที่มีการวัด Carbon footprint baseline Click

Carbon Footprint ตอนที่ 5: Key actions ของ Nestle Click

Carbon Footprint ตอนที่ 6: การจัดการดินและป่าไม้ของ Nestle Click

 

Carbon Footprint ตอนที่ 7: เป้าหมายในการลด Carbon footprint Click

Coming Soon