Topic
Carbon Footprint ตอนที่ 2
บทความตอนนี้จะอธิบายถึงหนทางและวิธีการต่าง ๆ ที่พยายามลด Carbon footprint ที่เกิดขึ้น
1. ภาพรวม
การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกซึ่งมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) นั้น หลัก ๆ มาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล (ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ) มีความพยายามในการลด GHGs จากเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยหันมา
1) หาแหล่งพลังงานที่สะอาดและยั่งยืน (Sustainable energy sources)
2) การอนุรักษ์แหล่งพลังงาน (Conserving energy)
3) การใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า (Increasing efficiency)
นอกจากนี้ยังหาทางขจัดหรือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกสู่ชั้นบรรยากาศด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่า (Enlarging forests) การฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ (Restoring wetlands) เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ "การกักเก็บคาร์บอน (Carbon sequestration)"
การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar energy) และพลังงานลม (Wind energy) ก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน ในการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change mitigation) โดยสามารถนำพลังงานมาเก็บสะสมไว้ใน Electrical grids ไว้เป็นแหล่งสะสมพลังงานทดแทน (Renewable energy) ไว้ใช้เมื่อมีความต้องการ
ส่วนการปล่อย GHGs จากการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า (Heating appliances) และการคมนาคม (Vehicles) ก็อาจเปลี่ยนแปลงให้พัฒนาอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน และรถไฟฟ้าเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นต้น
ในด้านการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า (Energy efficiency) ทำได้โดยพัฒนาอุปกรณ์ที่ช่วยประหยัดพลังงาน การปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ ในการทำงานที่ลดการใช้พลังงานลง
2. การลดระดับ Carbon footprint ในระดับพลเมืองและครัวเรือน
ในระดับพลเมืองและครัวเรือน ควรมีทั้งจิตสำนึกและพฤติกรรมใหม่ที่จะช่วยลดการปล่อย Carbon footprint ทั้งในด้านการบริโภคอาหาร (ซึ่งเกิดขยะ) การเดินทาง (ซึ่งเป็นการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล) การบริโภคสินค้าและบริการ (ซึ่งนำมาซึ่งขยะและสารอันตรายต่าง ๆ) ในประเทศที่พัฒนาแล้วมีการให้ความรู้และรณรงค์ให้ประชาชนใส่ใจว่า ทุก ๆ วันของการดำรงชีวิต พฤติกรรมของแต่ละคนอาจทำให้เกิดการปล่อย GHGs ได้ ดังนั้นหากมีความระมัดระวัง ช่วยทำให้พฤติกรรมหรือการกระทำทำให้เกิดการปล่อย GHGs ลดลง หรือขจัดออกไปได้ เช่น การเลือกการเดินทางแบบที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอน การรับประทานอาหารแบบ A plant-based diet เพื่อช่วยลดความต้องการเนื้อสัตว์ที่อาจเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ปศุสัตว์ ซึ่งมีส่วนปล่อย GHGs หรือการส่งเสริมให้ใช้เสื้อผ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้นเพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า
ปัจจุบันนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า การบริโภคที่มากเกินไป (Excessive consumption) เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะพบว่า อัตราการเติบโตของการบริโภคเร็วกว่าและมากกว่าอัตราการเติบโตของประชากร และไลฟ์สไตล์ที่ชอบบริโภคก่อให้เกิดผลกระทบและปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา มีการคาดการณ์ว่ากลุ่มคนที่มีพฤติกรรมบริโภคมากเกินไป ซึ่งมีเพียงประมาณ 10% ของประชากรทั้งหมด แต่เป็นผู้ทำให้เกิดการปล่อย GHGs สูงถึง 50% ของจำนวนผู้บริโภคทั้งหมด
การส่งเสริมให้เกิด "Greening personal lives" ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จนัก ซึ่งทั่วโลกต้องช่วยกันให้ความรู้และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ไลฟ์สไตล์ เมื่อถึงจุดหนึ่งอาจทำให้เกิด Momentum จนการเปลี่ยนแปลงมีผลต่อการลดลงของ GHGs อย่างมีนัยสำคัญ
3. การลด Carbon footprint ในระดับอุตสาหกรรมและธุรกิจ
การฟื้นฟูพื้นที่ป่า (Reforestation) เพื่อให้โลกมีพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ทั้งในด้านการดูแลรักษาพื้นที่ป่าเดิม และการปลูกป่าใหม่เพิ่มเติม การมีพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้นจะเป็นแหล่งที่กักเก็บคาร์บอนจนกลายเป็นแหล่งสำคัญด้านอุปทาน Carbon credits ให้ฝ่ายอุตสาหกรรมและธุรกิจซึ่งมักจะเป็นผู้ปล่อยคาร์บอน แม้จะพยายามลดอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม อุตสาหกรรมและธุรกิจจึงจะกลายเป็นแหล่งอุปสงค์ของ Carbon credits ที่สำคัญต่อไป ซึ่งหากมีการเติบโตอย่างแพร่หลายทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ก็จะเกิดตลาด Carbon credits ที่เข้มแข็งซึ่งจะช่วยลดการปล่อย GHGs ได้มาก ในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ เมื่อมองถึงระดับ Carbon footprint ที่ตนเองปล่อย ควรมองให้ครบในลักษณะ Supply Chain emissions ไปยังการปล่อย GHGs ให้ครบทั้ง Scope 1, 2, 3 ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำด้วย และช่วยกันทำให้เกิดการลด Carbon footprint ตั้งแต่นำวัตถุดิบเข้ามา นำมาผลิตและออกไปจำหน่ายยังลูกค้าในทุกขั้นตอน การกำหนดกลยุทธ์ แผนการดำเนินงาน และความร่วมมือระหว่างกันจะทำให้เกิดผลกระทบในการลด GHGs ได้อย่างกว้างขวาง
ที่มา : Wikipedia
บทความโดย
รศ.(พิเศษ)ดร.กฤษฎา เสกตระกูล
ที่ปรึกษา
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย