Topic

การเปิดเผยข้อมูลและการทำรายงานด้านความยั่งยืนที่ ‘น่าเชื่อถือ’ กับความเชื่อมั่นในภาคตลาดทุนไทย

โดย ฝ่ายพัฒนาความรู้ด้านความยั่งยืน SET ESG Academy (2025-05-23)

บททดสอบความน่าเชื่อถือของตลาดทุนไทยด้วยข้อมูลด้านความยั่งยืน

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ตลาดทุนไทยต้องเผชิญกับวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งจากแรงกดดันของเศรษฐกิจโลก การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียต่อความโปร่งใสและความรับผิดชอบขององค์กร

ข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลการเงิน (Non-financial data) อย่างข้อมูลในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เป็นปัจจัยสำคัญของการตัดสินใจลงทุนในปัจจุบัน เพราะนอกจากข้อกำหนดและกฎเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแลแล้ว ผู้ลงทุนเองก็ต้องการความมั่นใจว่าบริษัทที่เลือกลงทุนมีความโปร่งใส รับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า และมีความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่อาจท้าทายธุรกิจในอนาคตได้

 

เหตุผลที่ “ความน่าเชื่อถือ” ของข้อมูลด้านความยั่งยืน เป็นปัจจัยประกอบการตัดสินใจลงทุน


การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจ ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีผลต่อมูลค่าบริษัท ทั้งต้นทุนทางการเงิน (Cost of Capital) และโอกาสทางธุรกิจในระยะยาว ตัวอย่างเช่น กรณีของ Nikola Corp. ในสหรัฐฯ ที่ถูกกล่าวหาว่า “ฟอกเขียว” (Greenwashing) ส่งผลให้มูลค่าหุ้นร่วงลงทันที เหตุการณ์เช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าข้อมูลด้านความยั่งยืนที่ขาดความน่าเชื่อถือสามารถสร้างความเสียหายต่อมูลค่าบริษัทและความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนได้อย่างรุนแรง

ภาวะขาดความเชื่อมั่นต่อองค์กร (The Trust Deficit) กลายเป็นความท้าทายเร่งด่วนที่ผู้บริหารต้องเร่งแก้ไข โดยการเปลี่ยนข้อมูลและคำประกาศเกี่ยวกับ ESG จากเพียงข้อมูลในรายงานความยั่งยืน ไปสู่การปฏิบัติจริงที่วัดผลได้ (Actionable) และสร้างผลกระทบเชิงบวกที่จับต้องได้ ข้อมูลด้านความยั่งยืนที่มีความโปร่งใสและถูกต้องนอกจากช่วยฟื้นฟูความน่าเชื่อถือแล้ว ยังเป็นสัญญาณที่ชี้ว่าบริษัทนั้น ๆ ให้ความสำคัญกับนโยบาย การดำเนินการและการกำกับดูแลด้านความยั่งยืน เมื่อผู้ลงทุนพิจารณาปัจจัยรอบด้านและเชื่อมั่น/ไว้วางใจตัวองค์กรมากขึ้น อาจส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินขององค์กรลดลง โดยเฉพาะในประเทศที่กฎหมาย/กฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจยังไม่เข้มแข็ง การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจจึงกลายเป็น “ตัวแทน” ของความน่าเชื่อถือ ที่ผู้ลงทุนใช้ในการประเมินความเสี่ยงธุรกิจ

ตัวอย่างกระบวนการเพื่อเพิ่ม ’ความน่าเชื่อถือ‘ ในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน

 การประเมินสาระสำคัญ (Materiality)

จุดเริ่มต้นของการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่ดี บริษัทต้องมีการประเมินว่า “ประเด็นใดที่เป็นสาระสำคัญที่ส่งผลกระทบสำคัญต่อธุรกิจและผู้มีส่วนได้เสีย” และองค์กรควรเปิดโอกาสให้ทั้งพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ มีส่วนร่วมในการประเมินสาระสำคัญเหล่านี้ เช่น

  • บริษัทในอุตสาหกรรมอาหารอาจพบว่า “ความปลอดภัยของอาหาร” และ “การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน” คือประเด็นสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่นในธุรกิจ
  • ขณะที่บริษัทในอุตสาหกรรมพลังงานต้องให้ความสำคัญกับประเด็น “การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” และ “การเตรียมความพร้อมเผื่อเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ” เป็นต้น

 

การประเมินสาระสำคัญควรทำ และทบทวน (Review) อย่างสม่ำเสมอ และใช้กรอบอ้างอิงสากล เช่น GRI,TCFD, IFRS S2 เป็นต้น เพื่อให้ข้อมูลที่เปิดเผยสามารถเปรียบเทียบได้

 การจัดเก็บและควบคุมคุณภาพข้อมูล

องค์กรอาจลงทุนในระบบจัดการข้อมูล ที่ครอบคลุมตั้งแต่การรวบรวม การวิเคราะห์ การเปิดเผยข้อมูล และการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืน เพื่อรักษาคุณภาพของข้อมูลด้านความยั่งยืน ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลตลอดทั้งกระบวนการ ตัวอย่างระบบจัดการข้อมูล เช่น

  • การใช้ระบบ MRV (Measurement, Reporting, and Verification) ในการวัด การรายงาน และการทวนสอบคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (CFO)
  • การนำเทคโนโลยี Blockchain มาช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในห่วงโซ่อุปทาน
  • การนำ GenAI มารวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านความยั่งยืน จากแหล่งต่าง ๆ เช่น บิลค่าใช้จ่าย การตรวจสอบคู่ค่า(Supplier) เป็นต้น เพื่อช่วยตรวจจับความไม่สอดคล้องของข้อมูลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
  • การใช้ ESG Management Platform ที่เชื่อมต่อกับระบบ ERP เดิมขององค์กรในการช่วยจัดการข้อมูลทั้งระบบ เป็นต้น

 

นอกจากนั้นองค์กรสามารถจัดทำ “Audit Trail” หรือเส้นทางการตรวจสอบข้อมูล ที่ช่วยให้สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลได้อย่างโปร่งใส ลดความเสี่ยงจากการบิดเบือนข้อมูล เพิ่มความน่าเชื่อถือของข้อมูลด้านความยั่งยืน และตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ได้

 การตรวจสอบและให้ความเชื่อมั่นรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report Assurance)

เป็นกระบวนการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของรายงานโดยผู้ตรวจสอบอิสระ ซึ่งช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือและสร้างความมั่นใจให้ผู้มีส่วนได้เสียว่าข้อมูลในรายงานความยั่งยืนมีความถูกต้องและครบถ้วน ประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับจากการตรวจสอบและให้ความเชื่อมั่นรายงานความยั่งยืนมีหลายประการ ตัวอย่างเช่น:

  • สร้างความมั่นใจให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม
  • เพิ่มความน่าเชื่อถือในสายตาผู้ลงทุน
  • ดึงดูดและรักษาฐานลูกค้าที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนได้ในระยะยาว
  • ระบุความเสี่ยงของธุรกิจ และลดความเสี่ยงของธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

การตรวจสอบและให้ความเชื่อมั่นรายงานความยั่งยืนมีการกำหนดขอบเขตและระดับของการรับรองให้เหมาะสมตามความสำคัญของข้อมูลและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย โดยมีการรับรอง 2 ระดับ:

  • การรับรองอย่างสมเหตุสมผล (Reasonable Assurance): การรับรองระดับสูง โดยมีการตรวจสอบข้อมูล Primary data โดยตรง
  • การรับรองแบบจำกัด (Limited Assurance): เน้นการตรวจสอบข้อมูล Secondary data เพียงบางส่วน หรือเน้นบางขั้นตอน ทำให้ความน่าเชื่อถือมีข้อจำกัด

 

เมื่อมีการตรวจสอบและให้ความเชื่อมั่นรายงานความยั่งยืนแล้ว องค์กรควรสื่อสารผลการรับรองกับตลาดทุนอย่างชัดเจน โดยระบุระดับการรับรอง (Assurance) และหน่วยงานตรวจสอบเพื่อเพิ่มความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือ


 
การสื่อสารและการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย

การสื่อสารข้อมูลความยั่งยืนควรทำอย่างต่อเนื่องและโปร่งใสในรูปแบบ Structured data ที่สามารถอ่านด้วยเครื่องจักร (Machine-Readable) ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น SET ESG Data Platform เป็นต้น เพื่อให้ข้อมูลเข้าถึงได้ง่ายและผู้มีส่วนได้เสียสามารถนำไปวิเคราะห์ต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รวมถึงองค์กรควรสื่อสารอย่างต่อเนื่องกับผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งเว็บไซต์บริษัท One Report และการประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจแก่ผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับกลยุทธ์และผลการดำเนินงานด้าน ESG อย่างสม่ำเสมอ

ที่สำคัญการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เพียงการส่งสารแต่ต้องเปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสีย เช่น การจัดประชุม AGM เพื่อรวบรวมคำถามเกี่ยวกับความยั่งยืนขององค์กร การจัดทำแบบสำรวจผู้อ่านรายงานการประชุมกับผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อนำมาปรับปรุงเนื้อหาและกระบวนการรายงานความยั่งยืนให้ดียิ่งขึ้น



กรณีศึกษา: ผลลัพธ์จริงของบริษัทที่เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน อย่างมีคุณภาพ

 

ตัวอย่างบริษัทระดับโลก:

  • Microsoft เป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับการยอมรับในด้านการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน อย่างโปร่งใสและมีเป้าหมายชัดเจน บริษัทประกาศเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2030 พร้อมรายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดคือความเชื่อมั่นจากผู้ลงทุนที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนทางการเงินลดลง และสามารถออกผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ใส่ใจประเด็นความยั่งยืนได้มากขึ้น
  • Unilever เป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรที่นำ ESG disclosure ไปสู่การปฏิบัติจริง โดยการเผยแพร่รายงานความยั่งยืนอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้บริษัทได้รับความไว้วางใจจากผู้ลงทุนและผู้บริโภคทั่วโลก Unilever ใช้แนวทางการรายงานที่เน้นเรื่อง impact ในมิติสังคมและสิ่งแวดล้อม ประกอบกับการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ พลังงาน และขยะ ซึ่งทั้งหมดนี้ ช่วยลดความเสี่ยงด้านความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และส่งผลให้มูลค่าของบริษัทปรับตัวดีขึ้น
  • BlackRock เป็นหนึ่งในผู้บริหารสินทรัพย์รายใหญ่ระดับโลก ที่ใช้นโยบายลงทุนทาง ESG ในการคัดเลือกหุ้นและกองทุนที่มีการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ที่มีมาตรฐานสูง โดยประเมินผลด้วยเกณฑ์ที่สอดคล้องกับมาตรฐาน TCFD และ SASB จนทำให้รายงานความยั่งยืนของบริษัทมีคะแนนสูง ทำให้มูลค่าตลาดดีขึ้นและลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและสังคมอีกด้วย

ตัวอย่างบริษัทไทย:

  • PTT Group เป็นตัวอย่างของบริษัทไทยที่นำ ESG มาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์องค์กรอย่างจริงจัง การเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใสและได้รับการรับรองจากบุคคลที่สาม ช่วยให้บริษัทสามารถเข้าถึงเงินทุนจากต่างประเทศได้ง่ายขึ้น และได้รับความสนใจจากกองทุนที่เน้นการลงทุนอย่างยั่งยืน

ผลของการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่โปร่งใสเชื่อถือได้ต่อการตัดสินใจลงทุน

 มุมมองผู้ลงทุน: ข้อมูล ‘ที่น่าเชื่อถือ’ เปลี่ยนเกมการลงทุนอย่างไร?

ผู้ลงทุนสถาบันในไทยและต่างประเทศให้ความสำคัญกับข้อมูลด้านความยั่งยืน ที่น่าเชื่อถือมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับบริบทในประเทศไทย ที่เห็นได้ชัดคือการเกิดขึ้นของกองทุนลดหย่อนภาษีอย่างกองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน (ThaiESG Fund) และ กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ (ThaiESG และ ThaiESG X) ที่ลงทุนในบริษัทที่ใส่ใจด้านความยั่งยืนหรือ มีการดำเนินการตามประเด็น ESG เป็นหลักเพราะฉะนั้นการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่มีความน่าเชื่อถือ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ของบริษัทจึงเป็นอีกเรื่องที่สำคัญที่ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนแต่ยังเป็นแม่เหล็กดึงดูดเงินลงทุนที่มองหาบริษัทที่ใส่ใจในความยั่งยืนและผลตอบแทนที่มั่นคงได้อีกด้วย

 ความสัมพันธ์กับการเติบโตทางการเงิน

การที่บริษัทมีเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน และผ่านการรับรองของหน่วยงาน ช่วยให้ได้ดอกเบี้ยในการกู้ยืมที่ต่ำกว่า ลดต้นทุนทางการเงิน และเปิดโอกาสในการเข้าแหล่งเงินทุนระยะยาว เพราะผู้ลงทุนต่างตระหนักว่า บริษัทที่เปิดเผยข้อมูลอย่างชัดเจนมักมีระบบบริหารจัดการและโครงสร้างการกำกับดูแลที่แข็งแกร่ง สามารถจัดการความเสี่ยงได้ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนและตลาดทุน ถึงความรับผิดชอบของบริษัท ลดความผันผวนของราคาหุ้นได้นั่นเอง

 ตัวอย่างการประเมินมูลค่าหุ้นจากข้อมูลด้านความยั่นยืน

ตลาดทุนต่างประเทศ:

งานวิจัยจากสถาบันชั้นนำในต่างประเทศชี้ให้เห็นว่าบริษัทที่มีคะแนน ESG สูงมักมีอัตราส่วน Market-to-Book Ratio และ Tobin’s Q ที่สูงขึ้น เนื่องจากผู้ลงทุนเชื่อมั่นในความสามารถของบริษัทในการบริหารจัดการทรัพยากรและความเสี่ยง โดยรวม รวมถึงโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการ

ตลาดทุนไทย:

การนำแนวทางการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ตามมาตรฐานสากล ร่วมกับการอ้างอิงกรอบการรายงานพื้นฐานอย่างแบบ 56-1 One Report ช่วยให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยมีความโปร่งใสมากขึ้น ส่งผลให้มีการประเมินมูลค่าและราคาหุ้นที่แข็งแกร่งขึ้น ประกอบกับการที่ผู้ลงทุนไทยเริ่มตระหนักถึงประโยชน์ของการลงทุนในบริษัทมุ่งพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนตามกรอบ ESG เป็นสำคัญ เพื่อรักษาความได้เปรียบทางธุรกิจในระยะยาว



ความท้าทาย และแนวทางยกระดับความเชื่อมั่นของข้อมูลด้านความยั่งยืน

หนึ่งในความท้าทายสำคัญคือการป้องกัน Greenwashing หรือการบิดเบือนข้อมูลเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีโดยไม่สอดคล้องกับการดำเนินงานจริง องค์กรควรใช้ระบบตรวจสอบและประกันคุณภาพจากบุคคลที่สาม ติดตามและเก็บข้อมูลผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย และตั้งคณะกรรมการอิสระภายในองค์กรเพื่อควบคุมคุณภาพการเปิดเผยข้อมูลอย่างต่อเนื่อง

สำหรับกลุ่ม MSMEs การเข้าร่วมเครือข่าย ESG และขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ หรือใช้โซลูชันดิจิทัลเพื่อจัดการข้อมูล จะช่วยยกระดับมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่โปร่งใสและน่าเชื่อถือเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูและเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทย องค์กรที่ให้ความสำคัญกับการประเมินสาระสำคัญ การจัดเก็บและควบคุมคุณภาพข้อมูล การประกันรายงานความยั่งยืน และการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียอย่างต่อเนื่อง จะสามารถสร้างความไว้วางใจจากผู้ลงทุนและสังคมได้อย่างยั่งยืน

กรณีศึกษาทั้งในและต่างประเทศต่างยืนยันว่าข้อมูลที่น่าเชื่อถือช่วยลดต้นทุนทางการเงิน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเสริมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาว ดังนั้น การยกระดับมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนจึงเป็นเส้นทางสำคัญที่ทุกองค์กรควรให้ความสำคัญเพื่อความมั่นคงและเติบโตในอนาคต


ข้อมูลอ้างอิง:

Bowman, M. (2023). Sustainability assurance: What it is and why it matters. Deloitte Insights. https://www2.deloitte.com/us/en/insights/topics/strategy/sustainability-assurance-reporting-standards.html

Emerald Insight. (2024). ESG performance and cost of capital: Evidence from European listed companies. Emerald Insight. https://www.emerald.com/insight/content/doi/10.1108/jaoc-03-2024-0090/full/html

Global Reporting Initiative. (2023). GRI Standards. https://www.globalreporting.org/standards/

IFRS Foundation. (2024). IFRS Sustainability Disclosure Standards. https://www.ifrs.org/issued-standards/ifrs-sustainability-standards/

Schaal, D. (2021). The rise and fall of the Nikola Corporation. Harvard Business Review Case Study. https://hbr.org/product/the-rise-and-fall-of-nikola-corporation/CU267-PDF-ENG

Stock Exchange of Thailand. (2024). SET ESG data platform guidelines. https://www.set.or.th/en/sustainable-development/esg/esg-data-platform

SustainAbility Institute. (2023). Rate the raters 2023: Investor survey and rating agency assessment. https://www.sustainability.com/thinking/rate-the-raters-2023/

Task Force on Climate-related Financial Disclosures. (2023). TCFD recommendations. https://www.fsb-tcfd.org/recommendations/

Thailand Development Research Institute (TDRI). (2023). Exploring Thai Listed Companies' Corporate Sustainability Reporting and the Stakeholder Involvement in Corporate Materiality Analysis.

Thailand Greenhouse Gas Management Organization. (2024). Carbon registry & MRV system. http://tgo.or.th/2020/index.php/en/carbon-registry

Thailand Securities and Exchange Commission. (2024). 56-1 One report guidelines. https://www.sec.or.th/en/pages/lawandregulations/56-1onereport.aspx

The European Financial Reporting Advisory Group. (2023). European Sustainability Reporting Standards (ESRS). https://www.efrag.org/Activities/2105191406363055/Sustainability-reporting-standards

 
 

 


 

📍ทุกเส้นทางมุ่งหน้าสู่ Net Zero: ธุรกิจไทยจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร?

👉 Click เพื่ออ่านบทความ

📍ESG ซ่อนอยู่ตรงไหนในงบการเงิน

👉 Click เพื่ออ่านบทความ

 

📍คัดหุ้นนอกยังไง เมื่อสถานการณ์โลกสุดปั่นป่วน

👉 Click เพื่ออ่านบทความ

 

📍AI ช่วยยกระดับการจัดการข้อมูลด้านความยั่งยืน: เตรียมความพร้อมองค์กรสู่ Net Zero ด้วย ESG Management Platform

👉 Click เพื่ออ่านบทความ

📍การเปิดเผยข้อมูลและการทำรายงานด้านความยั่งยืนที่ ‘น่าเชื่อถือ’ กับความเชื่อมั่นในภาคตลาดทุนไทย

👉 Click เพื่ออ่านบทความ

📍คาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (CFO): จุดเริ่มต้นธุรกิจไทย เตรียมรับมือ EU CBAM และ CSRD

👉 Click เพื่ออ่านบทความ

📍Scope 3 Emissions คืออะไร? แนวทางจัดการสำหรับธุรกิจไทยเพื่อความได้เปรียบทางการแข่งขัน

👉 Click เพื่ออ่านบทความ