Topic
คัดหุ้นนอกยังไง เมื่อสถานการณ์โลกสุดปั่นป่วน
Highlights:
- ในสภาวะที่ตลาดหุ้นโลกผันผวน การกระจายลงทุนต่างประเทศ เป็นทางเลือกช่วยลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัว และสร้างสมดุลให้พอร์ตลงทุน
- ESG ไม่ใช่เพียงแนวคิดทางทฤษฎี แต่เป็นกลยุทธ์ที่บริษัทชั้นนำระดับโลกนำมาปฏิบัติจริงและสร้างผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ทั้งในแง่ผลประกอบการและการดูแลสังคมสิ่งแวดล้อม
- นักลงทุนสามารถใช้ปัจจัยด้าน ESG วิเคราะห์ความเสี่ยง ความสามารถในการแข่งขัน และสถานะทางการเงินของบริษัท เพื่อเป็นอีกหนึ่งมุมมองในการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุนเพื่อสร้างพอร์ตการลงทุนให้เติบโตในระยะยาว
ในสถานการณ์ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าระหว่างประเทศในหลายประเทศทั่วโลก การกระจายเงินลงทุนในหุ้นในหลาย ๆ ตลาดจึงกลายเป็นกลยุทธ์ที่นักลงทุนหลายคนเลือกใช้ เพื่อลดความเสี่ยงจากการกระจุกเงินลงทุนไว้ในประเทศเดียวหรือหุ้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และช่วยให้พอร์ตการลงทุนโดยรวมมีความสมดุลและมีความเสี่ยงน้อยลง
อยากลงทุนหุ้นนอก ต้องเริ่มยังไง?
ขั้นแรกสำหรับนักลงทุนทุกคนคงหนีไม่พ้นการศึกษาภาพรวมของตลาดที่สนใจ วิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรม ไปจนถึงบริษัทที่มีความโดดเด่น น่าลงทุน เพื่อจัดเข้าพอร์ตการลงทุน ซึ่งรวมถึงการพิจารณาปัจจัย ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล) ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการประเมินศักยภาพของธุรกิจในระยะยาว โดยสามารถทำตามขั้นตอนง่าย ๆ ได้ดังนี้
- ค้นหาตลาด อุตสาหกรรม และบริษัทที่มีแนวโน้มเติบโต: ศึกษาเศรษฐกิจของประเทศที่สนใจลงทุน กฎระเบียบ อัตราแลกเปลี่ยน
และเลือกอุตสาหกรรมที่ศักยภาพในการเติบโต และวิเคราะห์บริษัทที่น่าสนใจโดยการประเมินโมเดลธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน - วิเคราะห์ปัจจัยความเสี่ยงและโอกาสในการเติบโตของบริษัทในระยะยาว: ประเมินว่าบริษัทมีประเด็นความเสี่ยงเรื่องอะไรบ้าง หรือมีโอกาสในการเติบโตในระยะยาวอย่างไร โดยใช้ปัจจัย ESG มาวิเคราะห์ร่วมด้วยเพื่อให้มองได้ครบมุมมากขึ้น
- ติดตามว่าบริษัทจัดการประเด็นเหล่านั้นอย่างไร: พิจารณาว่าบริษัทบริหารความเสี่ยงหรือเพิ่มโอกาสด้วย ESG ได้ดีเพียงใด และคอยอัพเดทผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจากรายงานประจำปีและรายงานความยั่งยืนของบริษัท
- คัดเลือกและปรับพอร์ตลงทุน: เลือกบริษัทที่บริหารความเสี่ยงได้ดีพร้อมมี New S-curve ในอนาคต เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนของการลงทุน เช่น ลดสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจถ่านหินที่มีความเสี่ยงเรื่องภาษีคาร์บอน เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในบริษัทที่ผลิตชิปประมวล AI พลังงานต่ำเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
จะเห็นว่า การวิเคราะห์ธุรกิจอย่างรอบด้านผ่านเลนส์ ESG ช่วยให้นักลงทุนสามารถจัดพอร์ตการลงทุนได้อย่างง่าย ๆ
ตัวอย่างหุ้นชั้นนำระดับโลกกับ ESG
Apple Inc. (AAPL): มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ด้วยพลังงานหมุนเวียน
Apple บริษัทผู้ผลิต iPhone และ Mac ประกาศมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) โดยร่วมมือกับซัพพลายเออร์ทั่วโลกใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในการผลิตสินค้าภายในปี 2573 ซึ่งล่าสุด Apple ใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Scope 1, 2, 3) ไปแล้วกว่า 60% นับตั้งแต่ปี 2558 นอกจากช่วยโลกแล้ว ยังลดต้นทุนและดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก
หุ้นไทยที่ทำ ESG ในเรื่องที่คล้ายกัน: บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) (FPI) ผู้ออกแบบและผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์แบบครบวงจร มุ่งสู่การเป็นผู้นำการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนต่อหน่วยการผลิต ล่าสุดบริษัทฯ ใช้พลังงานทางเลือกมากถึง 50% ของพลังงานที่ใช้ในการผลิตทั้งหมด ตามเป้าหมายของ FPI ที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2578
NVIDIA (NVDA): ผลิตหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) ที่ลดการใช้พลังงานของศูนย์ข้อมูลทั่วโลก
NVIDIA ผู้ผลิตชิปประมวลผลรายใหญ่ ผลิตหน่วยประมวลผล (GPU) ใหม่สุดล้ำ ชื่อว่า Blackwell ที่สามารถรองรับการประมวลผล AI ได้สูงกว่าเดิมถึง 5 เท่า และลดการใช้พลังงานดีกว่า GPU ทั่วไปถึง 20 เท่า ช่วยให้ศูนย์ข้อมูล (Data Center) ลดการใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าหากศูนย์ข้อมูลทั่วโลกเปลี่ยนมาใช้หน่วยประมวลผลใหม่นี้ จะสามารถประหยัดไฟฟ้าได้มากถึงประมาณ 30 ล้านล้านวัตต์ต่อชั่วโมงต่อปี ซึ่งเทียบเท่าการใช้ไฟของภาคครัวเรือนในสหรัฐฯ กว่า 4 ล้านหลัง
หุ้นไทยที่ทำ ESG ในเรื่องที่คล้ายกัน: บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (ADVANC) และบริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) สร้างโอกาสการเข้าถึงระบบเครือข่ายสัญญาณดิจิทัลให้แก่พื้นที่ชนบทห่างไกลในประเทศไทย โดย ADVANC พัฒนาและติดตั้งสถานีฐานและเสาส่งสัญญาณสุดล้ำ ที่ใช้เพียงพลังงานแสงอาทิตย์ในการรับส่งสัญญาณ และใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ของ GULF ซึ่งช่วยให้คนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ สร้างความรู้และรายได้ให้ชุมชนในโครงการ “Green Energy Green Network”
Microsoft (MSFT): ตั้งเป้าเป็นบริษัทติดลบทางคาร์บอน (Carbon Negative)
Microsoft บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการไอที ลดการปล่อยคาร์บอนจากการดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2563 และยังใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน เพื่อบรรลุเป้าหมายสถานะติดลบทางคาร์บอน (Carbon Negative) ภายในปี 2573 นอกจากนี้ ยังจัดตั้งกองทุนมูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับสนับสนุนผู้พัฒนาเทคโนโลยีดักจับและลดคาร์บอน เพื่อนำมาปรับใช้กับบริษัทและคู่ค้าของบริษัท
หุ้นไทยที่ทำ ESG ในเรื่องที่คล้ายกัน: บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) ตั้งเป้าเพิ่มยอดขายสินค้า Green Choice ให้ถึง 67% ของยอดขายทั้งหมดในปี 2573 โดยลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาทในการสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่พัฒนาเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม โดยล่าสุดมีการสนับสนุนไปแล้วกว่า 100 โครงการ หนึ่งในตัวอย่างสุดล้ำคือ “Wake Up Waste” ที่เป็นแพลตฟอร์มรถบีบอัดขยะรูปแบบใหม่ ช่วยให้ขยะมีขนาดเล็กลงและขนส่งได้ปริมาณมากขึ้น
Amazon (AMZN): เน้นลดขนาดบรรจุภัณฑ์ในการขนส่ง
Amazon หนึ่งในแพลตฟอร์มค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประยุกต์ใช้ ESG ในธุรกิจโลจิสติกส์และอีคอมเมิร์ซ โดยออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เล็กลง มีน้ำหนักเบาขึ้น และรีไซเคิลได้ เพื่อลดต้นทุนวัสดุและการขนส่งสินค้า ในปี 2566 สามารถลดน้ำหนักบรรจุภัณฑ์ลงได้ 43% ต่อการจัดส่ง (เทียบกับปี 2558) และหลีกเลี่ยงการใช้บรรจุภัณฑ์ได้ถึง 446,000 ตัน
หุ้นไทยที่ทำ ESG ในเรื่องที่คล้ายกัน: บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (SCGP) พัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้กว่า 80 ผลิตภัณฑ์ เช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่รีไซเคิลได้ง่าย บรรจุภัณฑ์ที่ช่วยยืดอายุและคงคุณค่าของอาหาร บริษัทฯ มีรายได้จากสินค้า Green Choice ถึง 59% จากยอดขายทั้งหมด
Johnson & Johnson (JNJ): เดินหน้าใช้พลังงานสะอาดในโรงงานผลิตเวชภัณฑ์
Johnson & Johnson บริษัทผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชื่อดัง ลดการใช้พลังงานในโรงงานผลิตยาด้วยโครงการ “CO₂ Capital Relief Program” ตั้งแต่ปี 2548 สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึงปีละกว่า 69 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และลดคาร์บอนได้ถึงปีละประมาณ 264,710 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
หุ้นไทยที่ทำ ESG ในเรื่องที่คล้ายกัน: บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BDMS) เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่อาคารของโรงพยาบาลในเครือกว่า 34 แห่ง มีกำลังการผลิตรวม 12,790 kW ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เกือบ 10,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากกว่าปีละ 84 ล้านบาท
บริษัทชั้นนำระดับโลกที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างต่างให้ความสำคัญกับ ESG ในการทำธุรกิจ ไม่แตกต่างจากบริษัทจดทะเบียนไทยหลายแห่งที่ใช้ ESG ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเช่นกัน ซึ่งนักลงทุนสามารถพิจารณาปัจจัย ESG มาใช้ในการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุน เพื่อสร้างพอร์ตการลงทุนให้เติบโตได้ในระยะยาว
หมายเหตุ: บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
📍ทุกเส้นทางมุ่งหน้าสู่ Net Zero: ธุรกิจไทยจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร? |
![]()
|