Topic

ทุกเส้นทางมุ่งหน้าสู่ Net Zero: ธุรกิจไทยจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร?

 


--- แม้กระแสโลกผันผวน แต่ธุรกิจไทยยังจำเป็นต้องเดินหน้าสู่ Net Zero อย่างมั่นคง เพื่อความยั่งยืนและความได้เปรียบทางธุรกิจในระยะยาว --- 


สิ่งที่คุณจะได้รับจากบทความนี้

  • แม้บางประเทศลดความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม ธุรกิจไทยยังจำเป็นต้องมุ่งสู่ Net Zero เพื่อลดความเสี่ยงจากต้นทุนการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรปที่จะเก็บภาษีคาร์บอนเต็มรูปแบบในปี 2569
  • Net Zero คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเน้นลดการปล่อยจริงให้เหลือน้อยที่สุด (>90%) และชดเชยส่วนที่เหลือด้วยคาร์บอนเครดิต ไม่ใช่เพียงลดการปล่อยด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตมาหักลบ/ชดเชย
  • แนวทางดำเนินงานสู่ Net Zero ต้องอิงหลักวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่การประเมินสถานการณ์ปล่อยคาร์บอนขององค์กร (Scope 1, 2, 3) การตั้งเป้าหมายระยะสั้น-กลาง-ยาว การวางแผนปฏิบัติงาน การวัดผลและรายงานตามกรอบสากลที่น่าเชื่อถือ และการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสตามมาตรฐานสากล 
  • แต่ละอุตสาหกรรมมีแนวทางสู่ Net Zero ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นภาคพลังงาน การขนส่ง อาหาร เทคโนโลยี หรืออสังหาริมทรัพย์
  • ผู้ลงทุนยุคใหม่ให้ความสำคัญกับ Net Zero และใช้เป็นปัจจัยประกอบการตัดสินใจลงทุน ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินและการเข้าถึงแหล่งทุนของธุรกิจ


เมื่อโลกเปลี่ยน: ทำไมธุรกิจไทยยังต้องมุ่งสู่ Net Zero แม้กระแสโลกผันผวน?


เรากำลังอยู่ในยุคที่การเมืองโลกกำลังสั่นคลอนนโยบายสิ่งแวดล้อม สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงปารีส เดินหน้าสงครามการค้ากับจีน และขึ้นกำแพงภาษีกับหลายประเทศ แสดงชัดว่าให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจมากกว่าสิ่งแวดล้อม

ท่ามกลางกระแสผันผวนนี้ "ธุรกิจไทยยังควรมุ่งหน้าสู่ Net Zero อยู่หรือไม่?" คำตอบคือ "ควรเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง" โดยมีเหตุผลสำคัญ 4 ประการ:

1

ภาษีคาร์บอนกำลังมา แม้สหรัฐฯ จะไม่สนใจ

สหภาพยุโรปเริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 และจะเริ่มเก็บ "ภาษีคาร์บอน" จริงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 ผู้ส่งออกไทยอาจต้องรับภาระต้นทุนเพิ่มกว่า 1,700 ล้านบาทต่อปี

2

การแข่งขันในตลาดโลกกำลังเปลี่ยน

บริษัทที่ปรับตัวเร็วจะเข้าถึงตลาด "สีเขียว" ได้ดีกว่า บริษัทข้ามชาติหลายแห่ง เช่น Apple, Unilever และ IKEA ตั้งเป้าลดการปล่อย Scope 3 ซึ่งรวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของคู่ค้า

3

ต้นทุนทางการเงินที่ถูกลง

บริษัทที่มีแผน Net Zero Transition (NZT) ชัดเจนได้รับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่า และมีโอกาสมากกว่าในการเข้าถึงตลาดหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bonds)

4

ผู้ลงทุนสถาบันใช้ Net Zero เป็นเกณฑ์การลงทุน

เงินลงทุนที่ใช้ปัจจัย ESG ในการตัดสินใจมีมูลค่าสูงถึง 35.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ผู้ลงทุนสถาบันระดับโลกหลายแห่งเริ่มถอนการลงทุนจากบริษัทที่ไม่มีแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ชัดเจน


 

ทำความเข้าใจ Net Zero ให้ถ่องแท้

Net Zero หมายถึงสถานะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ องค์กรต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ (มากกว่า 90%) และชดเชยส่วนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยคาร์บอนเครดิตจนเหลือศูนย์

Carbon Neutrality Net Zero
เน้นการชดเชยการปล่อยด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต เน้นการลดการปล่อยให้เหลือน้อยที่สุดก่อน (>90%) จึงค่อยชดเชยส่วนที่เหลือ
ไม่จำเป็นต้องลดการปล่อยในสัดส่วนที่มาก ต้องลดการปล่อยอย่างมีนัยสำคัญตามหลักวิทยาศาสตร์
มักเป็นเป้าหมายระยะสั้นถึงระยะกลาง เป็นเป้าหมายระยะยาวที่ต้องมีแผนงานรองรับชัดเจน

 
การดำเนินการสู่ Net Zero ควรอ้างอิงตามกรอบมาตรฐานสากลเพื่อความน่าเชื่อถือ:

  • GHG Protocol - มาตรฐานการทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกที่แบ่งการปล่อยเป็น 3 ขอบเขต (Scope)
  • Science Based Targets initiative (SBTi) - กรอบการตั้งเป้าหมายบนพื้นฐานวิทยาศาสตร์
  • Task Force on Climate-related Financial Disclosures (TCFD) - แนวทางการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ

 




แผนที่นำทางสู่ Net Zero อย่างเป็นระบบ

1

เข้าใจสถานะปัจจุบันผ่านการวัดคาร์บอนฟุตพรินต์

ก่อนจะออกเดินทางสู่เป้าหมาย Net Zero องค์กร/ธุรกิจควรต้องรู้ก่อนว่า ปัจจุบันสถานะของเรานั้นอยู่ตรงไหน โดยองค์กรควรจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกให้ครอบคลุมทั้ง 3 ขอบเขต (Scope):

  • Scope 1: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิง, การรั่วไหลของสารทำความเย็น
  • Scope 2: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงานที่องค์กรซื้อหรือนำเข้ามา
  • Scope 3: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมตลอดห่วงโซ่คุณค่า

2

ตั้งเป้าหมายที่วัดผลได้บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์

องค์กรควรกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5°C โดยควรมีเป้าหมายครบทั้ง 3 ระยะ:

  • เป้าระยะสั้น (5-10 ปี): เช่น ลดการปล่อยลง 30-50% ภายในปี 2573 เทียบกับปีฐาน
  • เป้าระยะกลาง (10-20 ปี): เช่น ลดการปล่อยลง 60-80% ภายในปี 2583
  • เป้าระยะยาว: บรรลุ Net Zero ภายในปี 2593 หรือเร็วกว่า

3

วางแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม

เมื่อกำหนดเป้าหมายชัดเจนแล้ว องค์กรต้องจัดทำแผนที่นำทาง (Roadmap) และกลยุทธ์การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม มาตรการทั่วไปที่หลายธุรกิจสามารถดำเนินการได้ ประกอบด้วย:

  • การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน
  • การเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด
  • การปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต
  • การลดของเสียและเพิ่มการรีไซเคิล
  • การใช้กลไกชดเชยคาร์บอนอย่างมีคุณภาพ

4

วัดผลและติดตามความก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อเริ่มดำเนินมาตรการต่าง ๆ แล้ว องค์กรต้องมีระบบติดตามและวัดผลอย่างเป็นระบบ เพื่อให้แน่ใจว่ากำลังเดินทางสู่เป้าหมายตามที่กำหนดไว้ ควรกำหนดดัชนีชี้วัดที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น:

  • ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงเทียบกับปีฐาน
  • สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ในองค์กร
  • ประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่อหน่วยผลผลิต
  • อัตราการรีไซเคิลและการลดของเสีย

5

เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส

การเปิดเผยข้อมูล (Disclosure) เป็นหัวใจสำคัญของความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสในการดำเนินงานสู่ Net Zero ขององค์กร กรอบมาตรฐานสากลที่ควรใช้ในการเปิดเผยข้อมูล Net Zero ได้แก่:

  • TCFD - การเปิดเผยข้อมูลด้านความเสี่ยงและโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • IFRS S2 - มาตรฐานการรายงานข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศ
  • GRI 305 - มาตรฐานการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • CDP - แพลตฟอร์มการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม

 


 

แนวทางเฉพาะสำหรับแต่ละอุตสาหกรรม

แต่ละอุตสาหกรรมมีความท้าทายและโอกาสในการลดคาร์บอนที่แตกต่างกัน นี่คือตัวอย่างแนวทางเฉพาะสำหรับภาคส่วนหลักในประเทศไทย:

ตัวอย่างอุตสาหกรรม ตัวอย่างแนวทางเฉพาะ มุ่งสู่ Net Zero
พลังงาน
  • ลดการเผาก๊าซทิ้งและการรั่วไหลของมีเทนจากการผลิต
  • นำเทคโนโลยี CCUS มาใช้ในกระบวนการผลิต
  • ขยายการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก
ยานยนต์และโลจิสติกส์
  • เปลี่ยนผ่านสู่การผลิตและใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
  • เพิ่มการรีไซเคิลในกระบวนการผลิต
  • ใช้ AI ปรับปรุงเส้นทางและประสิทธิภาพการขนส่ง
  • ลงทุนในเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำสำหรับการขนส่ง
อาหารและเกษตร
  • ส่งเสริมเกษตรแบบฟื้นฟูระบบนิเวศ
  • ลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนเกินความจำเป็น
  • จัดการของเสียจากการผลิตให้เกิดประโยชน์ เช่น ทำ Biogas
  • พัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนและลดขยะอาหาร
เทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูล
  • ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% สำหรับศูนย์ข้อมูล (Data Center)
  • พัฒนาระบบระบายความร้อนที่มีประสิทธิภาพและใช้น้ำรีไซเคิล
  • ปรับปรุงการออกแบบฮาร์ดแวร์ให้ใช้พลังงานน้อยลง
อาคารและอสังหาริมทรัพย์
  • ติดตั้งระบบจัดการพลังงานอัจฉริยะในอาคาร
  • ปรับปรุงฉนวนและหน้าต่างเพื่อลดการใช้พลังงาน
  • ใช้มาตรฐานอาคารเขียว เช่น LEED หรือ TREES ในการพัฒนาโครงการใหม่


ศึกษาแนวทางโดยละเอียดของแต่ละอุตสาหกรรมได้ที่: คู่มือแนวทางการจัดการข้อมูลและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก


 


ความท้าทายสำคัญและแนวทางการจัดการ

1

ต้นทุนเริ่มต้นสูง

การลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดและการปรับปรุงกระบวนการมักมีค่าใช้จ่ายสูง ขณะที่ผลตอบแทนอาจเกิดในระยะยาว จากการสำรวจของ WBCSD พบว่า 66% ของผู้บริหารทั่วโลกมองว่าผลตอบแทนทางธุรกิจ/แรงจูงใจทางธุรกิจไม่มากพอ เป็นอุปสรรคสำคัญของการลงทุนด้าน Net Zero

ตัวอย่างแนวทางจัดการ:

  • พัฒนาโครงการริเริ่มเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่คำนวณ ROI และ NPV อย่างรอบด้าน
  • ทยอยลงทุนตามลำดับความสำคัญ เริ่มจากมาตรการที่มี ROI สูง
  • ใช้กลไกทางการเงินที่เหมาะสม เช่น การเช่าซื้อ หรือข้อตกลงซื้อพลังงาน
  • ศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการสนับสนุนจากภาครัฐ

2

ข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน

ในบางอุตสาหกรรม เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำยังอยู่ระหว่างการพัฒนาและยังไม่พร้อมใช้งานเชิงพาณิชย์ เช่น โรงงานปูนซีเมนต์ยังต้องพึ่งเชื้อเพลิงฟอสซิลบางส่วน เพราะเตาเผาแบบใช้ไฮโดรเจนหรือไฟฟ้ายังอยู่ระหว่างพัฒนา

ตัวอย่างแนวทางจัดการ:

  • ติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิด และวางแผนนำมาใช้เมื่อพร้อม
  • ร่วมมือกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมเพื่อลงทุนวิจัยและพัฒนา
  • ลดการปล่อยในส่วนอื่น ๆ ที่ทำได้ระหว่างรอเทคโนโลยีใหม่
  • เข้าร่วมโครงการนำร่องทดสอบเทคโนโลยีใหม่
 

3

ความซับซ้อนของข้อมูลห่วงโซ่อุปทาน

การจัดการในส่วนของ Scope 3 Emission ถือเป็นเรื่องยากและท้าท้าย เพราะต้องอาศัยข้อมูลจากองค์กรอื่นที่อาจมีระบบและวิธีการวัดผลแตกต่างกัน แม้จะมีมาตรฐาน GHG Protocol เป็นกรอบในการวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้วก็ตาม แต่รายละเอียดวิธีคำนวณในแต่ละอุตสาหกรรมยังมีการพัฒนาอยู่ตลอด เพื่อความชัดเจนและถูกต้องตามหลักการทางวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ตัวเลข Scope 3 มีโอกาสคลาดเคลื่อนพอสมควร


ตัวอย่างแนวทางจัดการ:

  • สร้างความร่วมมือกับคู่ค้าหลัก (Critical Supplier) ในการเก็บและแบ่งปันข้อมูล
  • ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลและเทคโนโลยีบล็อกเชนในการติดตามและตรวจสอบข้อมูล
  • กำหนดนโยบายจัดซื้อจัดจ้างที่ให้น้ำหนักกับการลดคาร์บอน
  • มีส่วนร่วมในการพัฒนามาตรฐานการวัดผลร่วมกันในระดับอุตสาหกรรม
 

4

การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร

การมุ่งสู่ Net Zero ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในองค์กร ซึ่งอาจเป็นเรื่องยากหากไม่มีวัฒนธรรมที่เอื้อ


ตัวอย่างแนวทางจัดการ:

  • สร้างการสนับสนุน/การสื่อสารจากผู้บริหารระดับสูงอย่างเปิดเผยและจริงจัง
  • บูรณาการเป้าหมาย Net Zero เข้ากับกลยุทธ์ธุรกิจหลักและการประเมินผลงาน
  • พัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นให้แก่พนักงานทุกระดับ
  • สื่อสารความคืบหน้าและผลสำเร็จอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ


 

บทบาทของผู้ลงทุนในการผลักดัน Net Zero


ผู้ลงทุน (และสถาบันการเงิน)มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ถือเป็น ‘ตัวเร่ง’ ขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ทั้งในระดับองค์กรและอุตสาหกรรม โดยใช้เครื่องมือทางการเงินสนับสนุนธุรกิจที่มีแผนงาน Net Zero ที่เชื่อถือได้:

>>เครื่องมือ และนวัตกรรมทางการเงินเพื่อผลักดันธุรกิจสู่ Net Zero<<

SET ESG Academy ได้รวบรวม 10 นวัตกรรมทางการเงินที่ช่วยผลักดัน Net Zero สำหรับตลาดทุนไทย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 10 นวัตกรรมทางการเงินเพื่อความยั่งยืน) ซึ่งสามารถสรุปและประยุกต์ใช้ได้ดังนี้

  • การลงทุนอย่างรับผิดชอบ
    ผู้ลงทุนสถาบันใช้ปัจจัย ESG ในการตัดสินใจ โดยให้น้ำหนักกับบริษัทที่มีแผน Net Zero ที่น่าเชื่อถือ
  • Green Bonds และ Sustainability-Linked Bonds
    ตราสารหนี้ที่ระดมทุนสำหรับโครงการลดคาร์บอนหรือผูกกับเป้าหมาย Net Zero โดยตรง ช่วยให้บริษัทเข้าถึงเงินทุนต้นทุนต่ำและสร้างแรงจูงใจในการดำเนินงานตามเป้าหมาย
  • Transition Finance
    เครื่องมือทางการเงินที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูงให้เปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอย่างเป็นขั้นตอน เช่น
    สินเชื่อสำหรับการเปลี่ยนเทคโนโลยีหรือปรับปรุงกระบวนการผลิต เป็นต้น
  • Sustainability-Linked Loans (SLLs)
    สินเชื่อที่อัตราดอกเบี้ยผูกกับความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero หรือ ESG ที่กำหนดไว้ หากบริษัททำได้ตามเป้าหมายจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง
  • Carbon Credit Trading
    การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดภายในประเทศและระหว่างประเทศ ช่วยให้บริษัทสามารถชดเชยการปล่อยที่ลดไม่ได้จริง (สัดส่วน ≤ 10%) และสร้างแรงจูงใจให้เกิดโครงการลดคาร์บอนใหม่ ๆ
  • Blended Finance
    การผสมผสานเงินทุนจากภาครัฐ เอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ/องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อสนับสนุนโครงการ Net Zero ที่มีความเสี่ยงสูงหรือผลตอบแทนระยะยาว
  • Green Equity
    การระดมทุนผ่านหุ้นสามัญหรือกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในบริษัทที่มีแผน Net Zero ชัดเจน
  • ESG Index Funds และ Thematic Funds
    กองทุนรวมที่ลงทุนในบริษัทที่มีผลการดำเนินงานด้าน Net Zero และ ESG ดีเด่น ช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้บริษัทพัฒนาแผน Net Zero อย่างต่อเนื่อง
  • Insurance Solutions for Transition Risk
    ผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ออกแบบมาเพื่อบริหารความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero เช่น การประกันความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีใหม่ เป็นต้น
  • Data & Impact Verification Platforms
    แพลตฟอร์มดิจิทัลที่ช่วยตรวจสอบและรับรองผลลัพธ์การลดคาร์บอนของโครงการหรือว่าได้ตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในสายตาผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสีย

การผสมผสานเครื่องมือทางการเงินเหล่านี้เข้ากับกลยุทธ์ Net Zero ขององค์กร จะช่วยให้บริษัทไทยสามารถเข้าถึงแหล่งทุนที่หลากหลาย ลดต้นทุนทางการเงิน และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดทุนโลกที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น

ดังนั้นเมื่อผู้ลงทุนมีข้อมูลและเครื่องมือวิเคราะห์ที่ดี จะสามารถแยกแยะระหว่างบริษัทที่มีแผน Net Zero ที่เชื่อถือได้ กับบริษัทที่ทำ "greenwashing" โดยพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เช่น:

  • ความสอดคล้องของเป้าหมายกับวิทยาศาสตร์
  • ความครอบคลุมของการปล่อยทั้ง Scope 1, 2 และ 3
  • ความชัดเจนของแผนงานและกรอบเวลา
  • สัดส่วนการพึ่งพาการชดเชยคาร์บอน
  • ความโปร่งใสในการรายงานและการตรวจสอบโดยบุคคลที่สาม (Third-party Assurance)


บทสรุป: ดำเนินการอย่างจริงจังบนเส้นทางสู่ Net Zero

ทุกเส้นทางวันนี้ล้วนมุ่งหน้าไปสู่ Net Zero แม้ว่าบริบททางการเมืองและนโยบายในบางประเทศจะผันผวน แต่แนวโน้มของตลาด ผู้ลงทุน และกฎระเบียบการค้ายังคงเดินหน้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอย่างไม่หยุดยั้ง

ธุรกิจไทยที่เริ่มวางแผนและลงมือทำอย่างเป็นระบบตั้งแต่วันนี้ จะมีความได้เปรียบในการรับมือกับความท้าทายและคว้าโอกาสทางธุรกิจในระยะยาว

หัวใจของความสำเร็จ คือ 'การดำเนินงานบนพื้นฐานวิทยาศาสตร์(Science-based approaches) การลงมือทำอย่างจริงจัง และการสื่อสาร/เปิดเผยข้อมูลกับผู้มีส่วนได้เสียอย่างโปร่งใสและจริงใจ' เพราะ Net Zero ไม่ใช่เพียงเรื่องของการลดความเสี่ยง แต่เป็นการวางรากฐานสำหรับโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงในทศวรรษข้างหน้า

 


References:

  • Asian Development Bank. (2023). A Comprehensive Assessment of Climate Finance Requirements and Financing Sources
    for Developing Member Countries of the Asian Development Bank
    . Manila: ADB.
  • Carbon Trust. (2023). Net Zero Pathway Development: A Practical Guide for Organizations. London: Carbon Trust.
  • Delis, M. D., Greiff, K. de, Iosifidi, M., & Ongena, S. (2024). Being stranded with fossil fuel reserves? Climate policy risk and the pricing of bank loans. Financial Markets, Institutions and Instruments, 33(3), 239–265. https://doi.org/10.1111/fmii.12189
  • European Commission. (2023). Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) Implementation Guidelines. Brussels: European Commission.
  • Global Sustainable Investment Alliance. (2023). Global Sustainable Investment Review 2022-2023. Retrieved from http://www.gsi-alliance.org/
  • Greenhouse Gas Protocol. (2022). Corporate Value Chain (Scope 3) Accounting and Reporting Standard. World Resources Institute and World Business Council for Sustainable Development.
  • (2022). Climate Change 2022: Mitigation of Climate Change. Contribution of Working Group III to the Sixth Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change. Cambridge University Press.
  • McKinsey & Company. (2023). Net-Zero Thailand: The Path to Decarbonization by 2050. McKinsey Sustainability.
  • Morgan Stanley. (2023). Sustainable Investing: Outperformance in Climate Transition. Morgan Stanley Institute for Sustainable Investing.
  • Science Based Targets initiative. (2023). Corporate Net-Zero Standard. Retrieved from https://sciencebasedtargets.org/net-zero
  • SET Sustainability Forum 2/2024's Report: Scaling up Synergies and Solutions for Net-Zero." The Stock Exchange of Thailand, 2024. Link: https://setsustainability.com/libraries/1318/item/set-sustainability-forum-2-2024-scaling
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย. (2566). ผลกระทบของ CBAM ต่อการส่งออกไทย: ความเสี่ยงและโอกาสในการปรับตัว. กรุงเทพฯ: ธนาคารกสิกรไทย.
  • ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. (2566). แนวทางการดำเนินงานสู่เป้าหมาย Net Zero สำหรับบริษัทจดทะเบียนไทย. กรุงเทพฯ: SET ESG Academy.
  • ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. (2566). 10 Innovative Financial Solutions for Net Zero. https://setsustainability.com/libraries/1336/item/-innovative-financial-solution-
  • Task Force on Climate-related Financial Disclosures. (2023). 2023 Status Report. TCFD.
  • United Nations Framework Convention on Climate Change. (2022). NDC Synthesis Report. UNFCCC.
  • World Business Council for Sustainable Development (WBCSD). (2023). Climate Action & Policy. Retrieved from https://www.wbcsd.org/Programs/Climate-and-Energy
  • Zhou, X., Williams, R., & Shrimali, G. (2025). Corporate net zero transition and financing cost: Evidence of impact from global energy and utilities sectors. SSRN Electronic Journal.https://doi.org/10.2139/ssrn.4957523
  • กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2566). แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย พ.ศ. 2564-2573. กรุงเทพฯ: สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.

 

 

 


 

📍ทุกเส้นทางมุ่งหน้าสู่ Net Zero: ธุรกิจไทยจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร?

👉 Click เพื่ออ่านบทความ

📍ESG ซ่อนอยู่ตรงไหนในงบการเงิน

👉 Click เพื่ออ่านบทความ

 

📍คัดหุ้นนอกยังไง เมื่อสถานการณ์โลกสุดปั่นป่วน

👉 Click เพื่ออ่านบทความ