Topic
AI ช่วยยกระดับการจัดการข้อมูลด้านความยั่งยืน: เตรียมความพร้อมองค์กรสู่ Net Zero ด้วย ESG Management Platform
โดย SET ESG Academy (2025-05-23)
ปัญหาคลาสสิคหนึ่งที่องค์กรไทยหลายแห่งต้องเผชิญ คือปัญหาการบริหารจัดการข้อมูลด้านความยั่งยืนที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ตลาดทุนไทยได้รับแรงกดดันจากผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่แม่นยำ โปร่งใส ส่งผลให้ภาระงานด้านความยั่งยืนขององค์กร เป็นงานที่ต้องแข่งกับเวลาและความกดดันอยู่เสมอ
การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประยุกต์ใช้งานร่วมกับระบบจัดการข้อมูลขององค์กร นับเป็นการเดินหน้าสู่ความยั่งยืนในรูปแบบที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ด้วยการผสานความคล่องตัวของนวัตกรรม AI กับหลักการบริหารจัดการประเด็น ESG อย่างเข้มแข็ง ทำให้องค์กรไทยไม่เพียงแต่สามารถรับมือกับความท้าทายระดับโลก แต่ยังสามารถรักษาความเป็นไทยและพัฒนาความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน
ความท้าทายในการจัดการข้อมูลด้านความยั่งยืน
หลายองค์กรในประเทศไทยยังพบความท้าทายในการเก็บ รวบรวมและบริหารจัดการข้อมูลด้านความยั่งยืน เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้มักถูกแยกเก็บในรูปแบบและจากหน่วยงานที่แตกต่างกัน ความซับซ้อนในข้อมูล และการใช้ระบบแบบ Manual ทำให้เกิดความผิดพลาดในขั้นตอนการบันทึกข้อมูล ส่งผลให้รายงานความยั่งยืนไม่สามารถสะท้อนภาพรวมที่แท้จริงขององค์กรได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ปัญหาด้านความโปร่งใสและความถูกต้องของข้อมูลยังเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียและตลาดทุน
บทบาทของเทคโนโลยี AI ในการจัดการข้อมูลด้านความยั่งยืน
การนำเอา AI เข้ามามีส่วนร่วมในระบบจัดการด้านความยั่งยืนให้สามารถตอบโจทย์องค์กรครบทุกมิติ อาทิ
- การรวบรวมข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็ว เช่น มีเทคโนโลยี OCR (Optical Character Recognition) ที่สามารถเปลี่ยนข้อมูลกระดาษและเอกสารที่ไม่ได้จัดเก็บในรูปแบบดิจิทัลให้กลายเป็นข้อมูลที่พร้อมใช้งานได้ทันที (ลดความผิดพลาดจากการ Key ข้อมูลด้วยมือ)
- การเปรียบเทียบระดับการดำเนินงาน (Benchmarking) ด้าน ESG ขององค์กรกับมาตรฐานและกฏระเบียบด้านความยั่งยืนในระดับสากล
- การตรวจจับความผิดปกติในกระบวนการบริหารจัดการ ESG ทำให้ผู้บริหารสามารถวางแผนกลยุทธ์และปรับปรุงการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกขั้นตอน
- การวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึก และคาดการณ์แนวโน้มทางธุรกิจ
ด้วยการประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติและการวิเคราะห์ที่แม่นยำ AI จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดภาระงานด้านเอกสารและเพิ่มความโปร่งใสในการรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมที่การตัดสินใจต้องอาศัยข้อมูลที่ทันสมัยและครบถ้วน
ตัวอย่าง ESG Management Platform ที่มีการใช้ AI และใช้งานได้ในประเทศไทย
เพื่อให้เห็นภาพรวมที่ชัดเจนเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ AI ในการจัดการข้อมูลด้านความยั่งยืน บทความนี้ได้นำเสนอการเปรียบเทียบและตัวอย่าง ESG Management Platform ที่มีการใช้ AI ดังนี้
-
Salesforce Net Zero Cloud
- จุดเด่นหลัก :
เป็นโซลูชันที่สามารถรวบรวมข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ได้ครอบคลุมตั้งแต่ภายในองค์กร คู่ค้า และ Supply Chain ตลอดห่วงโซ่คุณค่าได้ครบวงจรโดย
ตัวระบบมาพร้อมเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลด้านความยั่งยืน รองรับการเก็บข้อมูลและรายงานผลตามกรอบมาตรฐานสากล เช่น GRI, SASB, CDP, CSRD เป็นต้น
และมีระบบ Dashboard แสดงผลที่ครอบคลุมมิติทั้งด้านสังคม (S) และบรรษัทภิบาล (G) ในการเก็บสถิติต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบได้ง่าย เช่น จำนวนพนักงานแยกตามเชื้อชาติ สัดส่วนผู้บริหารหญิง เป็นต้น - ฟีเจอร์น่าสนใจ:
- มีการพัฒนาระบบ Einstein AI ที่สามารถดึงข้อมูลที่จัดเก็บไว้ มาสร้างร่างรายงานความยั่งยืนได้อัตโนมัติ โดยจะแจ้งเตือนหากข้อมูลส่วนใดขาดหาย
- มีเครื่องมือคำนวณและติดตามข้อมูลคาร์บอนอัตโนมัติ ครอบคลุม Scope 1,2 และ 3 ผู้ใช้สามารถนำเข้าข้อมูลกิจกรรม เช่น ปริมาณการใช้พลังงาน เชื้อเพลิง การเดินทาง เป็นต้น แล้วระบบจะแปลงเป็นปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยได้เลย
- ใช้ในการคาดการณ์ผลลัพธ์ล่วงหน้า ด้วยการสร้างสถานการณ์จำลอง (What-if scenarios) ให้สามารถแสดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคตได้
- ตัวอย่างของบริษัทในประเทศไทยที่ใช้งาน:
บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) [IRPC] บริษัท IRPC ร่วมกับที่บริษัทปรึกษา I&I Group (IIG) นำเอา Salesforce Net Zero Cloud มาใช้พัฒนาแพลตฟอร์ม ESG สำหรับใช้งานภายในองค์กรของตัวเองชื่อว่า ‘ATLAS’ สำหรับวางแผน ติดตาม และปรับปรุงแผนงานด้านความยั่งยืนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- จุดเด่นหลัก :
-
Microsoft Cloud for Sustainability
- จุดเด่นหลัก:
เน้นฟีเจอร์ด้านการเชื่อมโยงข้อมูลด้านความยั่งยืนทุกอย่างผ่านระบบคลาวด์ที่มีความน่าเชื่อถือสูง นอกจากนั้นยังมีการผสานความสามารถด้าน AI จากพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจอย่าง OpenAI ทำให้มีความสามารถหลายอย่างที่โดดเด่น - ฟีเจอร์น่าสนใจ:
- ESG Data Automation ที่เชื่อมต่อกับแหล่งข้อมูลแบบ IoT ได้หลากหลายประเภท รวมไปถึงมีฟีเจอร์ AI-OCR (Optical Character Recognition) ทำให้สามารถแปลงเอกสารกระดาษต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ESG เช่น บิลค่าไฟหรือบิลค่าน้ำมัน ฯลฯ ให้กลายเป็นข้อมูลดิจิทัล เพื่อนำไปวิเคราะห์ต่อได้ง่ายขึ้น
- AI-Driven Analytics วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและสร้างโมเดล (Forecast Model) เพื่อคาดการณ์ผลลัพธ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโครงการด้านความยั่งยืนให้เห็นภาพได้ล่วงหน้า
- AI Copilot เป็นผู้ช่วยในการสืบค้นข้อมูลเชิงลึกบน Dashboard ได้ด้วยภาษาง่าย ๆ
- ESG Compliance & Benchmarking สามารถทำ Gap Analysis สำหรับเปรียบเทียบสถานการณ์การดำเนินการด้านความยั่งยืน/ESG ขององค์กร เทียบกับมาตรฐานสากลหรือคู่แข่งในอุตสาหกรรมได้อัตโนมัติ
-
ข้อควรพิจารณา
เนื่องจากเครื่องมือนี้ต้องใช้เทคโนโลยีคลาวด์แบบ 100% ดังนั้นองค์กรจะต้องมีความพร้อมในเรื่องของระบบ IT ในภาพรวม และต้องมีการวางระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล (Data Security) ภายในให้รัดกุม โดยเฉพาะข้อมูลอ่อนไหว (Sensitive Data) ต่าง ๆ เช่น ข้อมูลเชื้อชาติ/ศาสนา ข้อมูลสหภาพแรงงาน ข้อมูล/ประวัติสุขภาพ เป็นต้น -
ตัวอย่างของบริษัทในประเทศไทยที่ใช้งาน
บริษัท Tact Social Consulting จำกัด ให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์ความยั่งยืนและ ESG Solutions เป็นพาร์ทเนอร์ และได้นำเอา Microsoft Cloud for Sustainability มาให้บริการกับลูกค้าองค์กร สามารถรวมข้อมูล ESG จากแหล่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการติดตามข้อมูลแบบเรียลไทม์และการจัดทำรายงานตามมาตรฐาน เช่น Global Reporting Initiative (GRI) และ Task Force on Climate-Related Financial Disclosures (TCFD) เป็นต้น
- จุดเด่นหลัก:
-
IBM Envizi ESG Suite
- จุดเด่นหลัก:
เป็นแพลตฟอร์มบริหารจัดการข้อมูลด้านความยั่งยืน ที่โดดเด่นด้านการจัดการคาร์บอนและพลังงานเป็นหลัก โดยทำหน้าที่เป็นระบบบันทึกข้อมูลตัวกลางและฐานข้อมูลขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุม เช่น การใช้พลังงาน การใช้น้ำ ปริมาณวัสดุและของเสีย ฯลฯ รวมถึงมีฟีเจอร์คำนวนปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ในตัว เป็นต้น - ฟีเจอร์น่าสนใจ :
- AI-Infused Planning & Forecasting ด้วยความที่เน้นระบบฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ตัว AI จึงสามารถสร้างแบบจำลองสถานการณ์เพื่อคาดการณ์อนาคตได้ในหลากหลายรูปแบบ เช่น จำลองแผนลดการปล่อยคาร์บอน 5 ปีข้างหน้า โดยปรับตัวแปรต่าง ๆ เช่น อัตราการใช้พลังงานหมุนเวียน เปอร์เซ็นต์การซื้อเครดิตคาร์บอน เป็นต้น) แล้วให้ระบบคาดการณ์ผลการปล่อยคาร์บอนในแต่ละปีได้อย่างละเอียด เป็นต้น
- AI Outlier Detection ระบบสามารถตรวจจับค่าตัวแปรผิดปกติ โดยตรวจสอบตัวเลขการใช้ทรัพยากรที่เปลี่ยนแปลงได้ไว เพื่อแจ้งเตือนแก่ผู้ดูแลได้ในระยะเวลาที่กำหนด เช่น ข้อมูลการใช้ไฟฟ้ารายชั่วโมงของโรงงานทุกแห่ง เป็นต้น
- Report Integration สามารถเชื่อมโยงกับระบบวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ (IBM Power BI) เพื่อสร้างรายงานความยั่งยืนที่สามารถรวมข้อมูลด้านความยั่งยืน เข้ากับข้อมูลทางการเงินและการดำเนินงานทางธุรกิจอื่น ๆ ด้วยกันแบบบูรณาการ โดยตัวรายงานจะอิงตามข้อกำหนดCorporate Sustainability Reporting Directive (CSRD) ของสหภาพยุโรป
-
ตัวอย่างของบริษัทในประเทศไทยที่ใช้งานบริษัทที่ใช้ IBM Envizi ESG Suite ที่มีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทยที่สุด คือเครือบริษัท Ikano Group ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Ikano Retail (เจ้าของแบรนด์ IKEA) เพื่อสร้างรายงานความยั่งยืน ตามข้อกำหนดของ CSRD (Corporate Sustainability Reporting Directive) ของสหภาพยุโรปเป็นหลัก
- จุดเด่นหลัก:
-
SAP Sustainability Control Tower
- จุดเด่นหลัก:
เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นบริการเสริมจากผู้ให้บริการระบบบริหารจัดการองค์กร Enterprise Resource Planning (ERP) รายใหญ่อย่าง SAP ที่เน้นการเชื่อมต่อข้อมูลข้ามระบบภายในองค์กรได้อย่างสะดวก เหมาะสำหรับองค์กรที่ใช้งานระบบ ERP ของ SAP อยู่แล้ว และต้องการต่อยอดให้ครอบคลุมด้านความยั่งยืน หรือตามกรอบ ESG เพิ่มขึ้น - ฟีเจอร์น่าสนใจ :
- Integration with ERP ตัวระบบสามารถดึงข้อมูล ESG แบบอัตโนมัติผ่านระบบ ERP ที่เชื่อมต่ออยู่ เช่น ข้อมูลการผลิต การจัดซื้อ และข้อมูลวัตถุดิบ เป็นต้น มารวมศูนย์อยู่ในที่เดียวกัน ทำให้มั่นใจว่าตัวเลข ESG ที่จัดเก็บมาตรงกับการดำเนินงานจริง
- Metric Management & GHG Calculation มีความยืดหยุ่น สามารถเพิ่มตัวชี้วัดตามกรอบ ESG ให้เหมาะกับแต่ละองค์กรได้เอง และมีเครื่องมือคำนวณก๊าซเรือนกระจกที่แม่นยำ เนื่องจากคำนวณจากข้อมูลจริงภายในขององค์กร
- AI-enabled ESG Reporting มีการใช้ AI เพื่อสร้างรายงานความยั่งยืนตามมาตรฐานอุตสาหกรรมอัตโนมัติ
- Insight to Action เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของระบบ โดยระบบจะทำการประมวลผลข้อมูลด้านความยั่งยืน เพื่อทำการแจ้งเตือน และให้คำแนะนำเชิงปฏิบัติ (Actionable Insights) เช่น ค่าใช้พลังงานของโรงงานบางแห่งสูงเกินเป้าหมาย การแนะนำให้ตรวจสอบเครื่องจักร/ปรับตารางการผลิต เป็นต้น
-
ตัวอย่างของบริษัทในประเทศไทยที่ใช้งาน
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) [CPF] ได้นำเอาระบบ SAP Sustainability Control Tower มาใช้เพื่อบันทึกและรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบเรียลไทม์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความยั่งยืน เช่น EU CBAM และข้อกำหนดการเปิดเผยความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศของ U.S. SEC
- จุดเด่นหลัก:

ข้อควรพิจารณาเพิ่มเติมสำหรับองค์กร ก่อนนำ ESG Management Platform มาใช้
- ต้องเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลเดิมได้: องค์กรควรพิจารณาว่าแพลตฟอร์มสามารถผสานรวม (Integrate) เข้ากับระบบไอทีและแหล่งข้อมูลที่มีอยู่ขององค์กรได้หรือไม่ เพื่อให้การรวบรวมข้อมูลทั้งหมดทำได้อย่างราบรื่นและเป็นไปโดยอัตโนมัติ
- ต้องรองรับความยืดหยุ่นและการปรับแต่ง: การเลือกเครื่องมือมาใช้งาน องค์กรควรปรึกษาผู้ให้บริการเรื่องการปรับแต่งฟีเจอร์ต่าง ๆ ให้เข้ากับความต้องการเฉพาะของแต่ละองค์กรได้ เช่น การออกแบบ Dashboard หรือแบบฟอร์มรายงานตามมาตรฐานที่ต้องการ เป็นต้น
- พิจารณาเรื่องงบประมาณ และความคุ้มค่าในการลงทุนในระยะยาว: องค์กรควรประเมินค่าใช้จ่ายของการนำเครื่องมือมาใช้ให้ครอบคลุม ทั้งทางตรง (เช่น ค่าลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ค่าบริการคลาวด์ เป็นต้น) และ ทางอ้อม (เช่น ค่าอบรมบุคลากร ค่าเชื่อมต่อระบบ ค่าบำรุงรักษา เป็นต้น) จากนั้นให้เทียบกับประโยชน์ที่จะได้รับในระยะยาวว่าคุ้มค่าหรือไม่
- ต้องใส่ใจเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล: เพราะข้อมูลด้านความยั่งยืนบางประเด็น (เช่น ข้อมูลด้านสังคม เป็นต้น) มีความอ่อนไหว และ/หรือเป็นข้อมูลภายใน แพลตฟอร์มที่เลือกใช้ควรมีมาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่เข้มงวดและได้มาตรฐาน เช่น การเข้ารหัสข้อมูล การกำหนดสิทธิ์การเข้าถึง และการตรวจสอบย้อนกลับการใช้ข้อมูล เป็นต้น
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
แม้ว่าการนำ AI และ ESG Management Platform มาใช้เป็นทางเลือกที่ช่วยให้องค์กรไทยสามารถบริหารจัดการข้อมูล ESG ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงช่วยเพิ่มระดับความน่าเชื่อถือ แต่องค์กรควรพิจารณาเครื่องมือที่เหมาะกับบริบทขององค์กร (เช่น เป้าหมาย ขนาดองค์กร และงบประมาณ เป็นต้น) โดยหากเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ผู้บริหารอาจเริ่มต้นด้วยการทดลองใช้งานในวงจำกัด (Pilot Project) เพื่อประเมินความคุ้มค่า และควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทั้งด้าน ESG และด้านไอที ในการเก็บข้อมูลประกอบการตัดสินใจใช้งานทั้งองค์กร การลงทุนในเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เพียงช่วยตอบโจทย์ด้านการรายงานและการเปิดเผยข้อมูลแต่ยังช่วยเพิ่มระดับความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสองค์กร เดินหน้าไปสู่เป้าหมาย Net Zero ได้อย่างเป็นรูปธรรม
ข้อมูลอ้างอิง:
Salesforce Net Zero Cloud – Salesforce.com/th (Net Zero Cloud | Salesforce ESG Software - Salesforce TH)
Microsoft Cloud for Sustainability – Microsoft.com (Microsoft Cloud for Sustainability | Microsoft)
IBM Envizi ESG Suite – IBM.com (AI-infused sustainability planning and forecasting with Envizi | IBM)
SAP Sustainability Solutions – SAP.com (SAP Sustainability Control Tower)